สภาพบ้านพักของชาวบ้านหมู่ที่ 2 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา กว่า 100 หลังถูกไล่รื้อทำลายเหลือเพียงเศษซากปรักหักพังบ้านพักเหล่านี้ชาวบ้านลงทุนลงแรงปลูกสร้างมานานกว่า 10 ปี นับแต่ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเช่าอยู่อาศัยในปี 2547
นางอัมพร เสนแสนยา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจาก ป.ป.ง.เพื่ออยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งในขณะนั้นที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลระหว่าง ป.ป.ง.กับเอกชนซึ่งได้ที่ดินมาโดยมิชอบก่อนที่ ป.ป.ง.จะชนะคดีและยึดที่ดินเป็นของแผ่นดินจึงขอความอนุเคราะห์ภาครัฐแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ยากจนไร้ที่ทำกินสามารถเช่าอยู่อาศัยได้ดังเดิม
บ้านเราที่ทำมาทั้งชีวิต กว่าจะได้มาต้องไปยืมเงินมาสร้าง มันพูดไม่ออก นั่งร้องไห้ ดูบ้านตัวเองถูกทุบ
การแจ้งให้ชาวบ้านออกจากที่ดินของ ป.ป.ง.ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในการดูแลของธนารักษ์จังหวัดสงขลา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2559 โดยนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในขณะนั้นได้ออกประกาศจังหวัดสงขลาให้ชาวบ้านขนย้ายรื้อถอนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ราชพัสดุในประกาศดังกล่าวมีการกล่าวหาว่า ชาวบ้านได้บุกรุกครอบครองที่ราชพัสดุโดยผิดกฎหมาย
นายหิรัญ รงค์ทอง เป็นอีกหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา กล่าวว่า หลังการประกาศให้ออกจากพื้นที่ก็ตามมาด้วยการคุกคามของอำนาจรัฐในเกือบทุกรูปแบบทั้งการตัดน้ำ ตัดไฟ ข่มขู่ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้ารื้อที่อยู่อาศัยแบบชาวบ้านแทบไม่ทันตั้งตัวข้าวของทั้งหมดถูกทำลายไปกับการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้างชาวบ้านบางคนแทบจะคิดสั้นไปพร้อมกับบ้านพักซึ่งถูกทำลายไป
มากัน 500 - 600 คน มาทุบบ้าน 3-4 หลัง ทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น แล้วทำไมตอนแรกที่มาสร้างเทศบาลไม่คัดค้าน
ก่อนหน้าที่บ้านพักและที่อยู่อาศัยจะถูกรื้อทำลาย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา พยายามสะท้อนความเดือดร้อนส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน อาทิ ยื่นหนังสือไปถึง แม่ทัพภาคที่ 4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
แต่แทบจะไม่มีการยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือ นายอรัญ กำเนิดผล ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.สำนักขาม อ.สะเดาจ.สงขลา การเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจสงขลา สะท้อนให้เห็นความล้าหลังจากการพัฒนาของรัฐที่มุ่งใช้อำนาจมากกว่าแสวงหาทางออกที่เหมาะสมและให้ความสำคัญสิ่งของมากกว่าคุณค่าชีวิตมนุษย์
ทางอำเภอออกคำสั่งให้การไฟฟ้า การประปาตัดน้ำ-ไฟ ทั้งหมด ตอนนี้ในพื้นที่ก็ใช้น้ำที่ซื้อ
ในปัจจุบันที่ดินแปลงราชพัสดุแปลงทะเบียนที่ 1,219 พื้นที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งอยู่ด้านฝั่งถนนตะวันตกของถนนกาญจนวนิชในพื้นที่หมู่ 2 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งได้มีการส่งมอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หลังการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้างและผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่มากว่า 1 ปียังคงเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือการพัฒนาใดๆ เกิดขึ้น
พิชญา แก้วขาว เครือข่ายภาคประชาชน จ.สงขลา ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลทหาร คสช.ในยุค 4.0 ถือว่าถอยหลังเข้าคลองเพราะแทบไม่มีการรับฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบจึงเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เนื่องจากการทำงานเป็นไปด้วยความเร่งรีบเน้นการพัฒนาเฉพาะเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่ละเลยปัญหาทางด้านสังคมการศึกษาและวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิงซึ่งจากบทเรียนจากโครงการพัฒนาหลายโครงการของรัฐที่ผ่านมานั้นซึ่งหากเน้นแต่เพียงด้านเศรษฐกิจก็จะล้มเหลวมาโดยตลอด และสร้างปัญหาผลกระทบในด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะการไล่รื้อชุมชนแออัดถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีหน้านี้ ควรเกิดในยุคปัจจุบันเพราะการรื้อชุมชนแออัด 1 ชุมชนก็จะทำให้ชุมชนแออัดนั้นแตกสลายก่อนจะไปก่อให้เกิดชุมชนแออัดอีกอย่างน้อย 4 แห่ง
แบบนี้มันไม่เท่าเทียมและมีนเหลื่อมล้ำด้วย นอกจากเหลื่อมล้ำ นโยบาย 4.0 นี่มันล้าหลังลงมาเลยนะ ยุค 4.0 มันทมีหลายมิติ เพราะ 4.0 ต้องก้าวหน้า ต้องไม่เหลื่อมล้ำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา ครอบคลุม พื้นที่ 4 ต.ของ อ.สะเดา ประกอบด้วย ต.สำนักขาม, ต.สะเดา, ต.สำนักแต้ว และ ต.ปาดังเบซาร์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 550 ตารางกิโลเมตร มีแนวคิดในการวางผังรวมทั้งในเรื่องการพัฒนาด่านสะเดาให้ได้มาตรฐานสากล การพัฒนาสถานีรถบรรทุก การพัฒนาสถานีขนถ่ายคอนเทนเนอร์ การจัดระเบียบการใช้สอยที่ดิน รวมถึงการจัดระเบีบบชุมชนชายแดนเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
ไทยพีบีเอสถูกปฎิเสธการให้สัมภาษณ์จากฝ่ายปกครองอำเภอสะเดา แต่มีการให้ข้อมูลว่าได้จัดสรรที่ดินแห่งใหม่คนละ 50 ตารางวาพร้อมระบบสาธารณูปโภคให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ชะลอการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้างในเขตที่ดินธนารักษ์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ช่วยสร้างความหวังให้กับบ้านอีก 92 ครอบครัว ที่ยังฝืนทนการกดดันจากอำนาจรัฐ หวังเพียงจะมีที่ยืนในสังคมเช่นเดียวกับที่รัฐหยิบยื่นที่ดินหลายพันไร่ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ ที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาในขณะนี้