โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมชายฝั่งภาคตะวันออกของมาเลเซีย (East Coast Rail Link: ECRL) จากรัฐสลังงอร์ไปยังรัฐกลันตัน มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในรัฐซาบาห์และรัฐมะละกา มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โครงการ ECRL ที่มา : Malaysia’s Land Public Transport Commission
ทั้ง 2 โครงการถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ตามยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia)
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดคำถามตามมาจากบรรดานักลงทุนและคอการเมืองระหว่างประเทศว่า การยกเลิกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการสร้างความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุน ระหว่างมาเลเซียกับจีน ในยุคมหาธีร์ 2.0 หรือไม่
หากเราสังเกตจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง แห่งแดนมังกร เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 61) จะพบว่า ความสัมพันธ์ของมาเลเซียกับจีนยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ในทางตรงกันข้ามทั้ง 2 ประเทศกลับมีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือในด้านการค้าให้มากยิ่งขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่จีนไม่รบเร้าให้ผู้นำมาเลเซียกลับมาทบทวนการตัดสินใจเสียใหม่เพราะถ้ามาเลเซียเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจส่งผลกระทบต่อจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ ระบุว่า จีนใช้โอกาสนี้ชิงความได้เปรียบด้วยการสวมบทพี่ใหญ่และมีวุฒิภาวะ ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 1 ของโลกอยู่ในภาวะคุ้มดีคุ้มร้าย เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มีปัญหาในด้านการตัดสินใจ
ส่วนผู้นำมาเลเซียเองก็ฉลาดพอที่จะไม่จุดประเด็นถึงโจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ซึ่งลี้ภัยไปพำนักในจีน หลังจากเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริตเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียระยะยาว (1Malaysia Development Berhad: 1MDB) เนื่องจากการประเด็นนี้อาจทำให้บรรยากาศการหารือกระอักกระอ่วนไม่น้อย
โจ โลว (Jho Low) วัย 37 ปี บุตรบุญธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค
การพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำจีนและผู้นำมาเลเซียเลยจบแบบวิน-วิน ได้ประโยชน์กันทั้งคู่เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยกประเด็นทิ่มแทงใจของอีกฝ่ายขึ้นมาพูด แถมยังจับมือกระชับสัมพันธ์สร้างความร่วมมือกันต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักได้ตั้งข้อสังเกตว่า มหาธีร์จะไม่ค่อยชอบจีนสักเท่าไรจากแนวคิดการพับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน หลังจากกลับขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย
จับตาอนาคตทุเรียนมูซังคิง (Musang King)
ตลอด 5 วันของการเดินทางเยือนจีน ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับและส่วนใหญ่เป็นการดึงเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมล้ำสมัยจากจีนไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซีย เห็นได้จากการเลือกเดินทางไปยังเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นที่แรก เนื่องจากเมืองหางโจวเป็นที่ตั้งของอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) และ เจ้อเจียง จี๋ลี่ (Zhejiang Geely Holding Group) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ซึ่งถือหุ้นของโปรตอน รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียไว้มากกว่าร้อยละ 50 ในปัจจุบัน
มหาธีร์และแจ็ค หม่า
อย่างไรก็ตามข้อตกลงฉบับหนึ่งที่อาจส่งแรงกระเพื่อมมาถึงตลาดส่งออกทุเรียนของไทยผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของจีน คือ Protocol of Inspection and Quarantine Requirements for the Export of Frozen Durian From Malaysia to China หรือ การเปิดไฟเขียวให้มาเลเซียส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนได้ถ้าผ่านมาตรฐานการเพาะปลูกของมาเลเซีย (Malaysia Good Agricultural Practice: MyGAP) เสียก่อน หลังจากที่จีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียนทั้งผลจากมาเลเซียมานานกว่า 10 ปี เพื่อป้องกันศัตรูพืชและสารปนเปื้อน เนื่องจากเกษตรกรมาเลเซียจะรอให้ทุเรียนสุกและหล่นลงมาจากต้นตามธรรมชาติ เนื้อทุเรียนจะเละและกลิ่นแรงต้องรับประทานภายใน 2-3 วันเท่านั้น ทำให้ส่งออกทุเรียนทั้งผลไปยังจีนไม่ได้เพราะไม่ผ่านมาตรฐาน มาเลเซียจึงเลือกที่จะส่งออกทุเรียนในรูปแบบเนื้อทุเรียนแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากทุเรียน (pulp and paste) เท่านั้น
ทุเรียนมูซังคิง (Musang King)
เพราะฉะนั้นการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นประเด็นที่ภาคการส่งออกทุเรียนของไทยต้องจับตามองในระยะยาว แม้ว่าข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกสินค้าทุเรียนของไทยไปจีน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณถึง 56,000 ตัน ขยายตัวมากถึงร้อยละ 700 ทำให้ภาพรวมการส่งออกทุเรียนของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ถามว่าทุเรียนหมอนทองจากบ้านเราถูกปากชาวจีนไหม?...คำตอบคือไม่ถูกปาก ทุเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน คือ ทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซีย หรือ เหมาซางหวาง ในภาษาจีนซึ่งถือเป็นทุเรียนระดับท็อปของโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากลักษณะพิเศษของทุเรียนชนิดนี้คือเม็ดตาย รสชาติหวานจัด เนื้อหนาและเนียนต่างจากทุเรียนหมอนทอง แต่การเก็บเกี่ยวทุเรียนของมาเลเซียไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกทุเรียนทั้งผลไปจีน ทำให้คนจีนต้องหันมาบริโภคทุเรียนหมอนทองแทนเพราะปัจจุบันไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนทั้งผลไปยังจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตของทุเรียนมูซังคิงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในห้วงเวลานี้ หลังจากสิงห์เฒ่าแห่งคาบสมุทรมลายูตั้งเป้าผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยการนำโมเดลของการส่งออกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาปรับใช้กับการส่งออกทุเรียน สุดท้ายแล้วภาคการส่งออกไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรปรับตัวตั้งรับข้อตกลงระหว่างจีนกับมาเลเซียฉบับนี้อย่างไรคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิดกันต่อไป
พงศธัช สุขพงษ์
Twitter: @PhongsathatTPBS