ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรณีรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินในเขตป่า โดยอยู่ระหว่างการสำรวจและจัดระเบียบที่ดินเพื่อพิจารณาให้ชุมชนขอรับอนุญาตทำกินในเขตป่า
นายศศิน ระบุว่า เห็นด้วยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้หลักการให้คนอยู่กับป่าโดยอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาที่ดินของชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 หรือมติวังน้ำเขียว ที่ผ่านมากว่า 20 ปี แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ
ปัญหาที่ล่าช้ามานับ 20 ปี ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ การขาดข้อมูลและเพิ่งเริ่มต้นนำแผนที่ดาวเทียมปี 2545 มาใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ถือครองที่ดิน ส่งผลให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่มหลัง มติ ครม.ดังกล่าว เพราะการอนุญาตให้ชุมชนอยู่ตามมติ 30 มิ.ย.41 ส่งผลต่อการเข้าจับกุม
เราเพิ่งมาเริ่มพูดว่าจะพิสูจนสิทธิ์ตามมติ ครม.ในช่วง 2 ปี เพราะเพิ่งจัดทำข้อมูลทั้งประเทศแล้วเสร็จ และพบว่ามีพื้นที่ขยายไปอีก 3 เท่าจากที่พิสูจน์สิทธิ์ไว้ ก่อนปี 2545 จำนวน 1.5 ล้านไร่ แต่ตอนนี้ 6.5 ล้านไร่
นายศศิน กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะชุมชนเดิมไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือหัวหน้าอุทยาน ไม่มีอำนาจ ต้องให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์เข้าไป เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าทุจริตกรณีนำเอาที่ไปให้ชาวบ้าน
ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไล่จับผู้ที่อยู่ในเขตป่าที่มีจำนวนนับล้านคนได้ ดังนั้นในหลักการของรัฐบาลจะให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยึดหลักการแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าโดยให้คนอยู่กับป่า ซึ่งเป็นทางออกที่ดีและน่าจะทำมานานแล้ว เพราะส่วนหนึ่งใช้หลักการของโครงการจอมป่า ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยนำร่องในผืนป่าตะวันตกมาแล้ว
“กรมป่าไม้”ยันไม่ใช่การแจกที่ดินเขตป่า
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า มาตรการตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าต้องแก้ปัญหาชาวบ้านในเขตที่ดินรัฐทุกประเภท ดังนั้นไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่อยู่ภายใต้มติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 แต่ทุกกลุ่มที่อยู่ในเขตป่าต้องได้รับการแก้ปัญหา ทั้งในลุ่มน้ำ 1,2 ที่อยู่มาก่อนและหลังวันที่ 30 มิ.ย.41 และกลุ่มที่อยู่ในลุ่มน้ำ 3,4,5 ที่เริ่มจัดให้ คทช.ไปแล้ว
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เริ่มต้นที่ อ.นาแห้ว จ.เลย และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะคณะกรรมการจัดหาที่ดิน ยังได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการคทช.ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมทั้งประเทศ ทั่วประเทศที่มีการสำรวจไว้ประมาณ 20 ล้านไร่ ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ จะแก้ปัญหารูปแบบเดียวกันให้สิทธิทำกินแบบแปลงรวม
มั่นใจคุมคนช่วยฟื้นป่าแหว่งกว่า 20 ล้านไร่
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจัดระเบียบครั้งนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จะต้องมีหลักฐานการพิสูจน์ทุกคนที่ครอบครองว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ถ้ามีการบุกรุกใหม่จะไม่ได้รับการผ่อนผันภายใต้คำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ที่คัดกรองชาวบ้าน
ยืนยันว่าไม่ใช่การแจกที่ดิน หรือนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านทำกินในป่าได้ง่ายขึ้น แต่เป็นการจัดระเบียบที่ดินชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า ภายใต้กติกาตกลงร่วมกันและไม่ต้องบุกรุกเพิ่ม แต่ยังต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ยอมรับว่ามติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 ไม่สามารถครอบคลุมชาวบ้านในเขตป่าได้ทุกกลุ่มทุกประเภท และถ้าได้รับรองตามกฎหมาย รัฐจะได้แนวร่วมในการดูแลป่าแทนการไล่จับคนที่อยู่ในป่า ทั้งนี้คาดว่ามีตัวเลขของประชาชนที่อยู่ในป่ากว่า 10 ล้านคน โดยใช้ประโยชน์พื้นที่ป่ารวมกว่า 20 ล้านไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจค้นที่ป่าบ้านพัก "เปรมชัย" พบห้างส่องสัตว์