การทยอยขอยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการยกเลิกเพื่อเปลี่ยนไปลงทุนในกองใหม่ที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงการคลัง ต้องเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อสร้างหลักประกันเงินออมหลังวัยเกษียณของลูกจ้าง
นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ในฐานะโฆษกก.ล.ต. กล่าวว่า บริษัทเหล่านั้น ยังคงมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงแต่บริษัทได้ย้ายการลงทุนไปยังกองทุนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น
มีหลายนายจ้าง และหลายนโยบายการลงทุน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร และมีการลงทุนหลากหลายมากขึ้นเป็นทางเลือกให้กับพนักงาน จึงเป็นที่มาของการขอยกเลิกกองทุนเดิมในรอบ 6 เดือน ก.ล.ต.จะรวบรวมแล้วนำมาประกาศแจ้งไม่ใช่การขอยกเลิกพร้อมกัน
ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อยู่ระหว่างพิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมาย หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ ภาคบังคับ หลังพบว่า ปัจจุบันสถานประกอบการจัดตั้งกองทุน เพียงร้อยละ 2.8 ซึ่งอาจกระทบการออมประเทศ และคุณภาพชีวิตประชาชน ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2560 มีผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 3 ล้านคน รวมเม็ดเงินที่อยู่ในการบริหารจัดการ 1 ล้านล้านบาท จากจำนวนบริษัทเอกชน 17,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ2.8 ของภาคเอกชนทั้งหมด