วันนี้ (9 ก.ย.2561) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีโซเชียลมีเดียเสนอข่าวเรื่องการติดเชื้อราจากแมวว่า มีโอกาสพบได้โดยเฉพาะเชื้อราในกลุ่มที่เรียกเป็นภาษาง่ายๆว่า กลาก ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง กับแมวที่ติดเชื้อรา หรือติดจากสิ่งแวดล้อมที่แมวที่มีเชื้ออาศัยอยู่ เช่น อุปกรณ์ที่รองนอน พรมที่นอน
เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราชนิดนี้ สามารถอยู่ได้นานเป็นเดือน แมวที่ไม่ได้แสดงอาการของการติดเชื้อก็อาจเป็นพาหะนำเชื้อราในบ้านได้ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อกลากแมว ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นวงกลมสีแดง ขอบนูนหนา และขยายวงขึ้น
ทั้งนี้การรักษาโรค แพทย์จะสั่งจ่ายยาตามความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยใช้ยาทารักษาเชื้อรา จะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องนาน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคได้หมด และลดความเสี่ยงกลับไปติดเชื้อซ้ำ รวมทั้งการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ทำความสะอาดเครื่องนอน เสื้อผ้าอย่างสม่ำเสมอ
ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มเด็กเล็ก-หญิงตั้งครรภ์เสี่ยง
นายสัตวแพทย์พรพิทักษ์ พันธ์หล้า รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปกติแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการแพร่โรคมายังคนได้ต่ำ แต่เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ชอบคลุกคลีใกล้ชิดกับคน ทำให้มีโอกาสนำเชื้อโรคบางชนิดมาสู่คนได้ เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว
โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มแม่ที่ตั้งครรภ์ ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ หรืออยู่ในภาวะถูกกดภูมิคุ้มกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากแมวมายังคน เช่น การสัมผัสสิ่งขับถ่ายโดยตรงของแมว หมัดแมว การโดนกัดและข่วน รวมถึงการสัมผัสขนหรือผิวหนังที่ติดเชื้อจากแมว
ดังนั้นผู้เลี้ยงแมวควรปฏิบัติมีดังนี้ 1.ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากสัมผัสแมว 2.พาแมวไปตรวจสุขภาพและให้วัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด 3.หากโดนแมวกัดและข่วน ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและใส่ยา และรีบไปพบแพทย์ 4.นำแมวไปวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี
5.กำจัดพยาธิภายนอกของแมว เช่น เห็บ หมัด 6.ไม่ควรให้แมวมาเลียตามร่างกาย และภาชนะใส่อาหารของคน 7.ควรเลี้ยงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนและไม่ปล่อยให้ออกไปคลุกคลีกับสัตว์นอกบ้าน 8.กำจัดสิ่งขับถ่ายของน้องแมว โดยการใส่ถุงมือและล้างมือทุกครั้ง รวมทั้งการทำความสะอาดถาดรองสิ่งขับถ่ายบ่อย ๆ 9.ดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้เด็กเล่นทรายที่มีสิ่งขับถ่ายของแมว