สภาอุตฯ ประชุมบอร์ด แจงเอกชนหนักใจโผ ครม. ยื่น 5 ข้อเสนอเร่งด่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์พิจารณา

เศรษฐกิจ
9 ส.ค. 54
19:17
11
Logo Thai PBS
สภาอุตฯ ประชุมบอร์ด แจงเอกชนหนักใจโผ ครม. ยื่น 5 ข้อเสนอเร่งด่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์พิจารณา

ยื่น 3 นโยบายเร่งด่วนที่ ส.อ.ท. จะผลักดันให้รัฐบาล แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)จัดประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลคงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) เพราะเป็นช่องทางที่ภาครัฐและเอกชนจะได้หารือและขับเครื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งนี้เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเข้าดูแลคือการปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนการตรึงราคาควรดูความเหมาะสมเป็นหลัก

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท.กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ ส.อ.ท. จะผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาประกอบด้วย 1.การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและเหมาะสม โดยเฉพาะสินบนนำจับ อยากให้ยกเลิกเพราะเป็นกฎหมายที่หล้าหลัง ใช้ในประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น 2.เขตอุตสาหกรรมชายแดน เพราะภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับปัญหาแรงงานด้าว ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นตั้งอยู่บริเวณชายแดน เพื่อใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างสะดวก

3.เรื่องนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ต้องการให้ภาครัฐ เอกชน และแรงงานหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด 4.การทุจริตคอร์รัปชั่นอยากให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง และ5.ภาพรวมของพลังงานของประเทศทั้งหมด ควรมีความชัดเจนว่าจะสนับสนุนพลังงานประเภทไหนด้วยการกำหนดทิศทาง เช่น ถ้าใช้พลังงานทดแทน เรื่องการเพาะปลูกควรกำหนดพื้นที่เพื่อการบริโภค และพื้นที่เพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวถึงโผคณะรัฐมนตรี(ครม.)ล่าสุดว่า กังวลกับครม. โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เห็นได้จากกระทรวงการคลัง เพราะมีความเชี่ยวชาญแค่ตลาดทุนอาจไม่เน้นดูแลภาคเศรษฐกิจจริง นั่นคือ ภาคการผลิตและตลาดแรงงาน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต่อจากนี้ต้องเป็นพระเอกด้านการส่งออกซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ดังนั้นต้องเร่งแสดงฝีมือโดยด่วน

"ตามโผทั้งหมดที่ออกมารู้สึกหนักใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ก็โชคดีที่ไทยมีข้าราชการประจำที่ทำงานได้ คาดว่าจะสามารถพยุงสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ แต่ตัวรัฐมนตรีเองต้องทิ้งบทบาทนักการเมืองลงสักพัก เพื่อเข้ามาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง" นายธนิตกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง