10% ของวัยกลางคนเสียชีวิตจากเหล้า
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การดื่มสุราเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมากกว่า 200 ชนิด โดยความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม รูปแบบของการดื่ม และความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเกิดโรค หรือปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งของริมฝีปากและช่องปาก มะเร็งตับ โรคตับแข็ง และวัณโรค ซึ่งค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มต่อวัน นอกจากนี้ 1 ใน 10 ของคนอายุ 15-49 ปี จะเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับต่ำ จะสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ
ติดเหล้ากระทบกาย-จิต
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม โดยเฉพาะผลกระทบต่อครอบครัว พบว่าเยาวชนที่มีพ่อติดสุราจะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางสุขภาพจิตมากขึ้นถึง 11.5 เท่า เมื่อเทียบกับเยาวชนที่มีพ่อไม่ติดสุรา, ผู้ที่มีภาวะติดสุรามากกว่าครึ่งมีปัญหาการใช้ชีวิตสมรสและปัญหาในการประกอบอาชีพ, ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในภาวะติดสุราจะมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 3.84 เท่า, ภรรยาที่มีสามีดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง 4.27 เท่า, หากภรรยาและสามีดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.55 เท่า
ขณะที่ผู้ที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อยจะส่งผลกระทบต่อสมอง กระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจบกพร่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ขาดความต่อเนื่องในการศึกษา ปัญหาการมีงานทำ และการดูแลของครอบครัว รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาติดสุราเรื้อรัง
รับมือ "ลงแดง"
ส่วนผู้ที่เลือกใช้วิธีการหยุดดื่มแบบหักดิบ ทำให้พบผู้ป่วยเกิดอาการถอนพิษสุรา หรืออาการลงแดงอยู่เสมอ เช่น อาการตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย นักดื่มและผู้ใกล้ชิดจึงต้องเตรียมแผนรับมืออาการที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดอาการ ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323
เช็ก 6 อาการ "ติดเหล้า"
สสส.แนะผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจสอบอาการติดเหล้าว่าอยู่ในเกณฑ์ "การดื่มแบบอันตราย" คือ การดื่มจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะ ตับอักเสบ ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการเสพติด ซึ่งสามารถลด หรือหยุดดื่มได้โดยตัวเอง และ "การดื่มแบบติด" คือ การดื่มจนเกิดปัญหาสุขภาพ สังคม การเงิน กฎหมาย ความสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ควรพบผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ เพื่อวินิจฉัย บำบัดภาวะติดเหล้า ส่วนการเลิกแบบหักดิบ อาจเกิดอาการถอนพิษเหล้ารุนแรงได้ เช่น ชัก ประสามหลอน เพ้อคลั่ง ตัวสั่น สมองอักเสบ
-มีอาการดื้อเหล้า คอแข็งมากขึ้น ดื่มมากขึ้นเพื่อให้เมาเท่าเดิม
-มีอาการขาดเหล้า เมื่อดื่มน้อยลง หรือหยุดดื่ม จะหงุดหงิด มือสั่น ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หูแว่ว ชัก
-มีการดื่มปริมาณมาก หรือนานกว่าที่ตั้งใจโดยหยุดไม่ได้
-มีความพยายามลด หรือเลิกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
-มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคม เพราะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปดื่มเหล้า
-มีพฤติกรรมยังดื่ม แม้ว่าจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจ
ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีอาการอย่างน้อย 3 ข้อ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ "ผู้ดื่มแบบเสี่ยง หรืออันตราย" ส่วนผู้ที่มีอาการ 3 ข้อ หรือมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป จะอยู่ในเกณฑ์ "ผู้ดื่มแบบติด"