กรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการเรียงตัวของพายุ โดย"ทิม เฮลเลอร์” ผู้สื่อข่าวพยากรณ์อากาศช่อง ABC News ได้โพสต์ภาพในทวีตเตอร์ของเขาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมระบุอินโฟกราฟฟิกเผยให้เห็นหย่อมฝนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกรวม 8 ลูก
วันนี้ (17 ก.ย.2561) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จีสด้า กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลดังกล่าวที่ระบุว่าเกิดพายุทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรแอตแลนติก ในคราวเดียวกันถึง 10 ลูก ขณะนี้พบว่ามีบางตัวยังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ยังไม่ได้พัฒนาเป็นพายุขึ้นฝั่ง ซึ่งความน่าจะเป็นมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ส่วนจะบอกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ เป็นเพียงข้อสังเกต ที่อาจจะตอบไม่ได้ชัด แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นได้ และคนที่เกี่ยวข้องต้องดูประเด็นนี้ ถ้า 2-3 ปีเกิดขึ้นลักษณะแบบนี้ ก็ไม่ผิดปกติ
ถ้าเขามีข้อมูลย้อนหลัง 10-30 ปี เก่ากว่านี้ก็จะตอบได้ชัดเจนว่าการที่บริเวณมหาสมุทรเขตร้อนมีพายุเรียงตัวพร้อมกัน 10 ลูกมาจากอิทธิพลของโลกร้อน ก็อาจจะเชื่อมโยงและตอบได้ชัดเจน
นักวิชาการ ระบุว่า เนื่องจากเพราะวงรอบทางภูมิอากาศต้องมองไกลย้อนหลังเชิงสถิติถึง 30 ปี และการที่จะบอกว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ต้องมีอย่างน้อย 2 วงรอบ คือ 0-30 ปี และ 30-60 ปี จึงจะเห็นได้ชัดเจน
ชี้โลกร้อนส่งผลพายุแรงขึ้น
เมื่อถามว่าภาวะโลกร้อนทำให้พายุมีความรุนแรงขึ้นจริงหรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า ในทางทฤษฎี ภาวะโลกร้อนทำให้พายุรุนแรงขึ้น เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น ทำให้มีพลังงานที่จะเป็นพายุ ซึ่งไม่ใช่แค่อุณหภูมิน้ำทะเลเท่านั้นทื่ทำให้พายุรุนแรงขึ้น แต่การกระจุกตัวของการไหลเวียนที่จะหมุนอากาศให้บริ เวณนั้นหมุนเป็นวงขึ้นมาได้ น้ำทะเลยิ่งร้อนขึ้นก็ยิ่งเพิ่มกำลังแรงขึ้น เหมือนกับการเก็บน้ำมันในบ้าน มากๆ ก็มีความเสี่ยงสูง
สำหรับไทย อยู่ในเขตพื้นที่ใต้เส้นศูนย์สูตร ความเสี่ยงที่จะเผชิญพายุแรงๆ ยังน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์ ซึ่งในรอบ 60 ปีสถิติพายุหมุนเขตร้อนในไทย ยังไม่พบความถี่ และความรุนแรงแบบมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอิทธิพลของพายุมังคุด ที่ตอนนี้พัดเข้ามณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ภายในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เส้นทางพายุไม่ได้พัดเข้าไทยและชายฝั่งภาคใต้ของไทย จึงไม่ได้มีผลกระทบกับไทย หรือสามารถนำไปเทียบเท่ากับพายุเกย์ที่เคยพัดเข้าถล่มจ.ชุมพร รวมทั้งพายุลินดา แฮเรียต ที่พัดเข้าชายฝั่ง ภาคใต้ของไทยที่เฉลี่ยจะเจอพายุเข้าฝั่ง 10 ปีต่อครั้ง ส่วนใหญ่ไทยเจอแค่ฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์เข้าสู่ชายฝั่งสหรัฐอเมริกา พายุเฮอร์ริเคนเฮเลนาที่พัดขึ้นทางทิศเหนือใจกลางมหาสมุทรแอตแลนติก รวมทั้งยังมีพายุโซนร้อนไอแซค และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอีก 2 หย่อม
ภาพ:กรมอุตุนิยมวิทยา
ส่วนบริเวณมหาสมุทรแปฟิกซิก มีพายุโซร้อนโอลิเวีย พายุดีเปรสชั่นพอล และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนอกชายฝั่งเม็กซิโก พายุซุเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุด และพายุโซนร้อนบารีจัต ที่อยู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งรวมทั้งหมด 10 ลูก
สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา บันทึกสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
รายเดือนในคาบ 67 ปี (พ.ศ. 2494 - 2560) รวม 195 ลูก โดยมีไต้ฝุ่นเกย์ 1 ลูกที่พัดเข้าถล่มชุมพรในปี 2532
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ยืนยันพายุไต้ฝุ่น "มังคุด" ไม่เข้าไทย
เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อะไรจะเกิดขึ้น ?