ราคาน้ำมันผันผวนตามตลาดเงิน
ความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวนอย่างหนัก ตลาดหุ้นทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สอดคล้องกับราคาน้ำมัน ที่ผันผวนอย่างหนักตามตลาดเงินไปด้วย
ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงถึง 4 ครั้ง รวม 2.30 บาท แม้จะมีความหวั่นวิตกถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในอนาคต แต่การปรับลดราคาลง ก็ส่งผลดีต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ที่สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากดีเซลได้รวม 2.80 บาทต่อลิตร
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด ระบุว่า ปกติในไตรมาส 3 ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการกักตุนน้ำมันก๊าดเพื่อเตรียมไว้ใช้ทำความร้อนในฤดูหนาว แต่การปรับลดเครดิตของสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันขณะนี้อ่อนตัวลง แต่เชื่อว่าราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงอยู่ที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ
เช่นเดียวกับนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่มองว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีความผันผวน แต่จะเป็นช่วงสั้นๆ และราคาจะปรับสูงขึ้น เพราะยังคงมีการเก็งกำไร
แต่ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงจนอยู่ที่ 101.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดีเซลอยู่ที่ 120.21 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลขายปลีกสูงถึงลิตรละ 2.34 บาท ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมติให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลเพิ่มอีก 90 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าเพิ่มเป็น 104 ล้านบาทต่อวัน จากเดิมไหลเข้า 55 ล้านบาทต่อวัน และมีผลให้ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบอยู่ 55 ล้านบาท กลับมามีฐานะเป็นบวกได้ในวันนี้ (10ส.ค.)
ส่วนเงินกองทุนฯ ที่นำไปใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.53 จนถึงวันที่ 6 พ.ค.54 รวมทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท
สำหรับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ยกเลิกเก็บเงินจากน้ำมันบางผลิตภัณฑ์เข้ากองทุนน้ำมันฯ นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เพราะปัจจุบันต้องนำเงินไปชดเชยราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงพลังงานเตรียมจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลต่อกองทุนน้ำมันฯ เพื่อเสนอต่อ รมว.พลังงานคนใหม่
ส่วนแนวคิดการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลใหม่ นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า คงไม่สามารถยกเลิกได้ในทันที เพราะหากจะยกเลิกจริงจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกประเภทที่ตรึงอยู่ในขณะนี้ให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะกองทุนน้ำมันฯ มีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ดังนั้นหากจะมีการตรึงจริงก็ควรเป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น