วันนี้ (22 ก.ย.2561) นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 25 กันยายน 2561 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (Greatest Brilliancy) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 - 20.00 น.
และอีกครั้งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 - 06.00 น. คาดว่าจะมีความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างปรากฏ แมกนิจูด -12.6) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะมองเห็นดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด เราจึงมองเห็นดาวศุกร์สว่างบริเวณขอบฟ้าทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏครึ่งดวง จนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2561 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
จากนั้นวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เรียกว่า ตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางมาก ๆ และหลังจากวันดังกล่าวดาวศุกร์จะปรากฏในเวลารุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวหนาขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
และในวันที่ 6 มกราคม 2562 ดาวศุกร์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏครึ่งดวงอีกครั้งเช่นกัน
นายศรัณย์ อธิบายเพิ่มว่าการที่ดาวศุกร์สว่างมากที่สุดในรอบปี 2561 ในวันที่ 25 กันยายน และ 30 พฤศจิกายน เนื่องจากโคจรห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะที่พอดีและมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ จึงสว่างมากหากเทียบกับช่วงที่ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกและตะวันตกมากที่สุด ช่วงดังกล่าวแม้ว่าจะปรากฏครึ่งดวง แต่มีขนาดปรากฏลดลง เพราะอยู่ห่างจากโลกมากที่สุด
ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์วงในลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ แต่จะปรากฏเป็นเสี้ยวให้เห็น ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางฟ้าหรือในเวลาดึก ๆ
ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมายาวไปจนถึงต้นปีหน้า จึงเป็นช่วงที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวศุกร์เป็นอย่างมาก ดาวศุกร์จะปรากฏบนท้องฟ้าสว่างมาก ในช่วงหัวค่ำและรุ่งเช้า และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยสังเกตการณ์จะมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏในลักษณะต่างๆ