นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากตัวเลขประมาณการผู้เกษียณอายุราชการ ณ วันที่ 1 ต.ค.2561 มีจำนวน 49,475 คน ซึ่งการเกษียณอายุราชการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต อาจส่งผลให้ผู้เกษียณเกิดอาการเศร้า เหงา เครียดและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช มักมีสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิตและสังคม โดยการไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นปัจจัยทางจิตสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหา กรมสุขภาพจิตได้แนะนำให้ผู้เกษียณทุกคนหมั่นประเมินความสุขสม่ำเสมอ หากรู้สึกมีความสุขลดลง ควรใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า เพื่อประเมินอาการ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบประเมินซึมเศร้าได้ที่เว็บไซด์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และหากพบมีภาวะซึมเศร้าขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อประเมินซ้ำและให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ผู้เกษียณควรเรียนรู้และให้ความสำคัญกับความสำเร็จของตนเองและความพึงพอใจในชีวิต รู้จักหาความสุขและไม่ปล่อยให้ใจเป็นลบ
ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุพบมากถึงร้อยละ 10-20 ของประชากร ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการมีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส ไปจนถึงรุนแรงมากจนเป็นโรคหรือมีอาการจิตเวชร่วมด้วย อาการเตือนของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่ สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนอารมณ์ดีก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดง่าย มีเหตุผลน้อยลง ขี้บ่นมากขึ้น หรือลดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่อยากร่วมกิจกรรม พูดน้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ยอมกินยา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีปัญหาการนอนที่ผิดปกติ มีอาการความจำไม่ค่อยดี สมาธิสั้นลง มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตัวเอง
ทั้งนี้ การรักษาโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุทางกาย จิตสังคม ต้องอาศัยการปรับตัวของคนรอบข้างให้ความเข้าใจและเอาใจใส่ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาร่วมด้วย โดยเริ่มใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อนๆ ก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาไปตลอด สามารถลดยาลงจนอาจไม่ต้องใช้ยา ดังนั้นควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง