ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งเมืองปาลู บนเกาะสุลาเวสี ทางตอนกลางของประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 คน ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าปัจจัยสำคัญของความเสียหายที่รุนแรงครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับระบบเตือนภัยที่มีข้อบกพร่อง
ผศ.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิชาการจากภาควิชาโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัญหาเรื่องการแจ้งเตือนภัยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาถอดบทเรียน เพราะยังมีปัจจัยเรื่องอื่นที่อาจส่งผลกระทบที่ทำให้ระบบการแจ้งเตือนไม่สามารถทำงานได้

ด้าน รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยสึนามิ เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นในปี 2547
จากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย แม้ขณะนี้จะไม่ส่งผลโดยตรงกับไทย แต่รอยเลื่อนอยู่ติดต่อกันอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนบ้าง และไม่สามารถบอกได้ว่าจะสะเทือนจนถึงขั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยนานาชาติอยู่ระหว่างเฝ้าระวัง
ส่วนปัญหาสำคัญของการเฝ้าระวังสึนามิคือระยะเวลาในการแจ้งเตือนจากศูนย์เตือนภัยนานาชาติที่จะแจ้งเตือนมายังประเทศไทย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าทุ่นเตือนภัยบางจุดเสียหาย ไม่สามารถดูข้อมูลได้ หากมีสึนามิเกิดขึ้นจริง อาจเกิดความเสียหายอย่างหนัก