วันนี้ (5 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 17 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 1-5 ต.ค.นี้ โดยประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผอ.กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประ เทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าประชุม
ล่าสุด สำนักเลขาธิการไซเตส มีมติให้ประเทศไทยออกจากแผนปฏิบัติการงาช้างหรือ NIAP โดยไม่ต้องทำแผนต่อไซเตสแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 8 ชาติ เช่น ฟิลลิปินส์ จีน เคนยา แทนซาเนีย อูกันดา เคยถูกขึ้นบัญชีประเทศ ที่มีปัญหาลักลอบ และเป็นเส้นทางค้างาช้างแอฟริกาผิดกฎหมาย กระทั่งในปี 2560 ไทยถูกปรับสถานะดีขึ้น จาก Primary Concern มาเป็น Secondary Concern
นายสมเกียรติ ระบุว่า การที่ประเทศไทยก้าวพ้นจากแบล็กลิสต์ เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการออกมาตรการจัดแผนปฏิบัติการงาช้าง เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกามายังประเทศไทย
โดยแผนดังกล่าวออกกฎหมายงาช้าง 2558 และการเพิ่มให้ช้างแอฟริกา เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การเพิ่มให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 นอกจากนี้ยังปรับปรุง วิธีการ จดทะเบียนตั๋วรูปพรรณ ช้างเลี้ยงของไทย รวมทั้งความเข้มงวดปราบปราม การค้าระหว่างประเทศ ที่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน
ที่ประชุม ห่วงใยเรื่องการลักลอบค้าหนังช้าง ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งไทยยินดีให้ความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย โดยจะขยายการดำเนินการอย่างเข้มข้นกับสัตว์ชนิดอื่นด้วย ทั้งนี้ประเทศไทย ยังคงจะคงมาตราการเข้มข้น ในการป้องกันปราบปราม การลักลอบค้างาช้าง และฆ่าช้างต่อไป
จากข้อมูลกรมศุลกากรปี 2560 มีรายงานสถิติการเคยจับกุมตรวจยึดงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้างไปแล้วกว่า 16,730 ชิ้น น้ำหนักรวม 75 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7.5 ล้านบาท