วันนี้ (11 ต.ค.2561) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสนอข่าว ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ..ที่ ครม.อนุ มัติ วานนี้ ว่า ครม.อนุมัติเพียงหลักการเบื้องต้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่ให้ไปดูรายละเอียดบางเรื่อง ที่อาจสร้างความวิตกกังวลใจแก่ประชาชน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรี ก็เห็นใจในเรื่องนี้
นายกฯให้ความเห็นในที่ประชุม ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้บันทึกในรายงานการประชุมไว้รัดกุมอยู่แล้วว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าธรรมเนียมและค่าปรับ โดยอาจงดเก็บค่าธรรมเนียมก็ได้ เพื่อลดภาระของประชาชน แล้วนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า หลังจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งการพิจารณาของกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่าทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจะนำความคิดเห็นของที่ประชุม และข้อกังวลของประชา ชนที่มีต่อร่างกฎหมายดังกล่าวไปปรับปรุง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุด โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นกลับไปยังรัฐบาล หรือส่งข้อมูลไปทางแอปพลิเคชัน DLD4.0 ของกรมปศุสัตว์ได้โดยตรง
รัฐส่อถอยทบทวน-ห่วงภาระชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเป็นประเด็นในโซเชียล โดยเฉพาะการเก็บเงินค่าขึ้นทะเบียนทั้งหมด 450 บาท และโทษปรับไม่เกิน 25,000 พันบาท เป็นการอิงมาจาก พ.ร.บ.ควบคุมโรค และในส่วนผู้ที่รับผิดชอบก็ยังเห็นไม่ตรงกันเสียทีเดียว ควรจะจูงใจ ไม่มีโทษไม่ต้องเสียเงิน หรือจะยอมถอย เพราะถ้าดูท่าทีรัฐบาลวันนี้ ก็ดูจะไม่ค่อยดึงดันกับเรื่องนี้
แม้ว่าครม.เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เห็นชอบในหลักการนี้ เพราะเห็นว่า จะทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้รับผิดชอบมากขึ้น และจะช่วยป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพให้สัตว์ได้ แต่ติดในเรื่องค่าธรรมเนียมค่าปรับว่าจะเป็นภาระของประชาชน
นั่นก็หมายถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังต้องกลับไปแก้เรื่องค่าธรรมเนียมค่าปรับ ร่วมกับกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ หาก ครม.เห็นชอบ เรื่องจะถูกส่งไปที่สนช. เพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณากฎหมายเรื่องนี้อีกครั้งหมายความว่าบทบัญญัตินี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ และถ้าดูท่าที ครม.ในวันนี้ก็ดูจะถอย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ถ้าไม่เห็นด้วยแล้ว สามารถถอนมติ ครม.ได้หรือไม่ โดยระบุว่า มีหลายกรณี เมื่อถึงขั้นตอนถึงกฤษฎีกา พอแก้แล้วกระทรวง บอกอาจจะไม่เอาดีกว่า หรือไม่เขาไปแก้ออกมาให้ดีกว่าเดิม เช่น กรณีภาษีมรดก ถ้ามีมรดกไม่เกินเท่าไหร่ไม่ต้องเสีย ภาษี แตพอแก้กฤษฎีกาแล้ว ปรับเป็น 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสีย และสุดท้ายพอถึงสภาก็ปรับตัวเลข 100 ล้านบาท เช่นเดียวกับบทลงโทษ กฎหมายประมง กฎหมายแรงงาน กฎหมายก็ยังแก้ไขได้
สนช.หนุนสร้างระบบจูงใจแทนเพิ่มภาระ
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อธิบายว่า เมื่อมาถึง สนช. คงต้องมาแก้เรื่องโทษ และเรื่องเงิน อาจจะไม่เก็บ หรือเก็บให้น้อยที่สุด เพราะเรื่องแบบนี้ควรเป็นไปแบบจูงใจ และมีเวลาประชาสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจ
เมื่อถามว่าถ้าเก็บ เงินจะเอาไปทำอะไร นี่เป็นการเปิดช่องหากินหรือไม่ นายวัลลภ ยกตัวอย่างว่า สำนักงานเขต ก.ไก่ มีความพร้อมจัดทำระบบลงทะเบียน ถ่ายภาพเก็บรูปพรรณสัณฐานและฝังชิพ เก็บเงินไป ก็นำไปใช้กับเรื่องเหล่านี้ ก็คงไม่มีคำถาม
แต่เรื่องนี้กทม.เคยทำเมื่อปีที่แล้ว เชิญชวนให้คนมาขึ้นทะเบียน ฝังชิปให้ฟรี ไม่มีใครสนใจทำเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเก็บเงิน ก็อาจจะยิ่งไม่จูงใจหรือเปล่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ขึ้นทะเบียน "หมา-แมว" จ่ายตัวละ 450 บาทฝ่าฝืนปรับ 2.5 หมื่นบาท
ชี้แค่ขึ้นทะเบียน "หมา-แมว" ผิดเนื้อหาพ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์