มูลช้างป่าที่พบตามเส้นทางจากชุมชนใน ต.แม่ละมุ้ง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่ยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด โดยถนนสายนี้ เคยถูกใช้เป็นเส้นทางของกลุ่มผู้ลักลอบล่าสัตว์ในการเดินทางเข้าสู่ผืนป่าตะวันตก
นายโชค ศรีโสภาสาคร กำนันตำบลแม่ละมุ้ง อ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า อดีตเคยมีการจับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่า 2 ครั้ง ปัจจุบันชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐร่วมสอดส่องดูแล ที่ผ่านมา ยังไม่พบบุคคลต้องสงสัยและการลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ก็ไม่เกิดขึ้นอีก ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เลิกเป็นพรานป่าแล้ว
นายสุชาติ จันทร์นวลหอม ประธานภูมิวัฒนธรรมผืนป่าตะวันตก ที่คลุกคลีกับผืนป่าตะวันตกมากว่า 20 ปี กล่าวว่า ผืนป่าตะวันตกสามารถเดินเท้าเข้าได้หลายเส้นทาง เนื่องจากมีแนวเขาที่เชื่อมต่อกันครอบคลุม 6 จังหวัด เฉพาะป่าใน อ.อุ้มผาง สามารถเข้าทางเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าก็ได้ หรือจากบ้านปางสังกะสี จ.ตาก ไปยังอุทยานแห่งชาติคลองลาน ถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และลงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ได้
ส่วนการจับกุมชาวเวียดนาม พร้อมซากเสือโคร่ง และไม้กฤษณา ที่สถานีขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ประธานภูมิวัฒนธรรมผืนป่าตะวันตก ตั้งข้อสังเกตว่า ป่าในอำเภออุ้มผาง ไม่พบไม้กฤษณา จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการนำซากสัตว์และไม้กฤษณา มาจากป่าแม่วงก์ หรือ ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีไม้ชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าเกี่ยวเนื่องกับการจับกุมชาวเวียดนามลักลอบตัดไม้หอมกฤษณาในป่าแม่วงก์ เมื่อปี 2560
สำหรับการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ขณะนี้ตั้งเป้าว่าซากเสือโคร่งน่ามาจากเขตป่าใน จ.นครสวรรค์ แล้วขนย้ายออกมาทาง จ.ตาก เนื่องจากพบว่ามีผู้พบผู้ต้องหา ออกจากป่าบ้านปางสังกะสี อ.วังเจ้า จากนั้นนั่งรถย้อนไปที่ขนส่งจังหวัดตาก เพื่อนั่งรถโดยสารไปภาคอีสาน เพื่อไปประเทศลาวและกลับประเทศเวียดนาม
ผืนป่าตะวันตกมีพื้นที่กว่า 11.7 ล้านไร่ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 17 แห่ง ใน 6 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ติดกับป่าใหญ่ในเขตประเทศเมียนมา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย รวมถึงเสือโคร่งซึ่งใกล้สูญพันธุ์
ข้อมูลจากทีมวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าพบเสือโคร่งในธรรมชาติมากที่สุด ราว 150-200 ตัว แต่ไม่เปิดเผยที่อยู่ที่ชัดเจนของประชากรเสือ เพราะเกรงจะถูกคุกคามจากกลุ่มลักลอบล่าสัตว์