วันนี้ (19 ต.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชักชวนให้บริจาคเงิน ตั้งเป้า 10 ล้านบาท เพื่อนำเข้ากองทุนวิจัยยารักษามะเร็งด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายโดยไม่ต้องทำคีโม ผลข้างเคียงน้อยโอกาสหายสูง การันตีด้วยรางวัลโนเบล ซึ่ง นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังเร่งวิจัยเพื่อผลิตให้คนไทย ซึ่งจะทำให้ค่ารักษาโรคมะเร็งจนหายลดจาก 10 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท โดยหากประสบความสำเร็จอีกประมาณ 4 ปี คนไทยจะได้ใช้ยาตัวนี้
สำหรับการคิดค้นครั้งนี้ ต่อยอดมาจากผลงานรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018 ของ ศ.ดร.เจมส์ อัลลิสัน (James Allison) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเทกซัส ของสหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) หมอผู้ค้นพบวิธีการรักษามะเร็งด้วยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ โดยไม่ต้องทำคีโม
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนั้นทำงานอยู่ในสถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาแต่ตัดสินใจลาออกกลับมาตั้งศูนย์วิจัยผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งตามต้นแบบที่ได้รางวัลโนเบล ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทำการศึกษาอย่างเร่งด่วน จนกระทั่งได้ยาต้นแบบ 1 ตัวแล้ว แต่งบที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะนำยาต้นแบบเข้าขั้นตอนต่อไป โดยขาดเงินจำนวน 10 ล้านบาท จึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาค โดยล่าสุด มียอดบริจาคกว่า 3 ล้านบาทแล้ว
ยาที่เราทำเอง ผลิตเอง ราคาก็จะถูกกว่า อย่างยาสองขวด หากซื้อขายกันจะอยู่ที่ 2 แสนกว่าบาท หากทำได้เอง ก็น่าจะลดลงมาเหลือที่ 2 หมื่นบาทค่าใช้จ่ายมะเร็งต่อคนจากทุกวันนี้ คิดคร่าวจะอยู่ที่กว่า 8 ล้านบาท ก็จะลดลงเหลือ 6 แสนกว่าบาท
สำหรับผู้สนใจสมทบทุนงานวิจัยสามารถบริจาคเข้าเลขที่บัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชี "คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่องานวิจัย)" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย
"มะเร็ง" ครองแชมป์คร่าชีวิตคนไทย
ขณะที่สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยปี 2561 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยล่าสุดพบผู้ป่วยใหม่ 112,392 คนต่อปี และมีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ส่วนประเภทมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย 5 อันดับ คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ขณะที่มะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง 5 อันดับแรก คือ
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ชีววิทยาเชิงระบบ ความหวังผู้ป่วยโรค “มะเร็ง”