แทบทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปปฏิบัติภารกิจราชการในต่างประเทศ จะชี้แจงสถานการณ์การเมืองของไทย เมื่อเร็วๆ นี้ก็เช่นกันในการเดินทางไปประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 ที่ประเทศเบลเยียม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำโรดแมปเลือกตั้งของไทยในปี 2562 จะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออย่างช้าคือ เดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งการดำเนินการตามโรดแมปจะนำประเทศกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่า ถ้านับจากนี้ไป คาดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
นั่นหมายความว่า วันเลือกตั้ง จะไปตรงกับวันสอบ GAT/PAT ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพิ่งประกาศ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คือวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2562
ซึ่งจะทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะจะตรงกับวันสอบพอดี
และเมื่อไปดูตัวเลข ผู้ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) ในครั้งนี้ คือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งมีจำนวนมากถึง 6.4 ล้านคน นั่นหมายความว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขนาดนี้ หากครึ่งหนึ่งไปเลือกตั้งไม่ได้ ก็ย่อมมีผลกระทบมากพอสมควร
หากจะมาดูกันว่า ใครเป็นคนกำหนดวันให้ตรงกัน
กลับไปดูพบข้อมูลว่า กกต. เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งก่อน ให้เป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2561 เมื่อคราวการประชุมผู้บริหารและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่ จ.ชลบุรี
ขณะที่ สทศ.เพิ่งประกาศลงเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ระบุว่า สทศ.ได้ประกาศปฏิทินการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ประจำปีการศึกษา 2562 ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2562
มาถึงตรงนี้
ถ้าเป็น นักเรียน นักศึกษา ต้องถามว่า "จะไปสอบหรือไปเลือกตั้ง"
ถ้าถาม กกต. ก็ต้องถามว่า "คะแนนเสียง 6.4 ล้านคน มีความหมายหรือไม่"
ถ้าถาม สทศ. ต้องถามว่า "จะให้เด็กไปเลือกตั้งหรือไม่"