นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขอถอนร่าง พ.ร.บ.ยาออกจากพิจารณาของ ครม.ก่อนนั้น เนื่องจากว่าร่าง พ.ร.บ.ยาที่ยื่นเข้าไปพบว่ามีความเห็นต่างกันอยู่ จึงถอนออกมาก่อนเพื่อคุยกันใหม่ โดยจะเอาเฉพาะประเด็นที่เห็นต่างมาหารือ ไม่ใช่พิจารณาใหม่ทั้งฉบับ และจะเชิญภาคประชาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย เภสัชกร มาร่วมพูดคุยหารือและพิจารณาโดยเร็ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีความทันสมัย ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับใคร แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและมีการคุ้มครองประชาชนอย่างครอบคลุมรอบด้าน
ด้านเภสัชกรเกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.ภูเก็ต และกรรมการชมรมเภสัชกรภาคใต้ กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ให้ความสำคัญและรับฟังประเด็นปัญหาและข้อกังวลที่เครือข่ายเภสัชกรทักท้วงและห่วงใยว่าจะส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ทำให้มีการดำเนินการถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ ครม.ออกมาก่อน
โดยการถอนออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสนอเข้าไปใหม่ให้ทันในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ได้ทันสมัยวาระ สนช.ก็อาจจะนำเอา พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้ต่อไปก่อน และเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นการประกาศมาตรา 44 ของ คสช.เรื่องกระบวนการและค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนยาเข้าไป เพื่อให้การขึ้นทะเบียนยาสามารถทำได้คล่องตัว เนื่องจากเป็นส่วนที่ผ่านการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันไปแล้วระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ กระแสคัดค้านแสดงข้อกังวลท้วงติงในบางมาตรา เช่น มาตรา 24 (3) ที่กำหนดให้คนที่ผ่านการอบรมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถขายปลีกยาที่ไม่ใช่ยาตามใบสั่งและยาที่ต้องจ่ายโดยใบสั่งได้ และมาตรา 25 (6) เรื่องใบอนุญาตการขายปลีกยาที่ไม่ใช่ยาตามใบสั่งและยาที่ต้องจ่ายโดยใบสั่งได้ ซึ่งอาจเปิดช่องให้นายทุนสามารถเปิดร้านยาสายพันธุ์ใหม่ และมาตรา 117 ให้คลินิกเอกชนที่ไม่มีแพทย์และเภสัชกรอยู่สามารถจ่ายยาได้ เป็นต้น