วันนี้ (24 ต.ค.2561) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำกับดูแลการผลิตน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทยทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่อง น้ำปลา โดยต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ไม่ได้ห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทย เพียงแต่ต้องการเอกสารกระบวนการผลิตเพิ่มเติมจากบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขโดย อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลา รวม 48 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง จึงขอให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำปลาที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไทย
ในน้ำปลามีสารฮีสตามีนน้อยมาก และข้อมูลทางวิชาการก็ยังไม่พบผู้บริโภคน้ำปลาป่วยเป็นโรคมะเร็ง
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า เมื่อปี 2557 FDA สหรัฐฯ กำหนดมาตรฐานนำเข้าน้ำปลาว่าต้องผ่านกระบวนการต้ม ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัว แต่วิธีนี้ทำให้รสชาดเปลี่ยนแปลง โดยก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือชี้แจงกระบวนการผลิตน้ำปลาของไทยกับสหรัฐอเมริกาไปแล้วว่าเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น อย.จะทบทวนมาตรฐานน้่ำปลาทั้งในเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่นๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการ เพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง