ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยังไม่สรุป แท็กซี่ "เหมาจ่าย" นั่งทั้งเดือน 12,000 บาท

สังคม
1 พ.ย. 61
10:08
299
Logo Thai PBS
ยังไม่สรุป แท็กซี่ "เหมาจ่าย" นั่งทั้งเดือน 12,000 บาท
สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เสนอแนวคิด "เหมาจ่าย" นั่งได้ไม่จำกัดเที่ยว เพียงจ่ายค่าสมาชิก 12,000 บาทต่อเดือน คาดเปิดให้บริการต้นปีหน้า ขณะที่ กรมขนส่งฯ ชี้ผิดระเบียบใช้รถผิดประเภท

แนวคิดของ บริษัท มาย แท็กซี่ ที่จะร่วมลงทุนเปิดให้บริการรถแท็กซี่ ในรูปแบบเก็บค่าบริการรายเดือน โดยผู้โดยสารที่จะใช้บริการสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกในราคา 12,000 บาทต่อเดือน ใช้บริการได้ไม่จำกัดเที่ยววิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยการเรียกรถมาให้บริการจะเรียกผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งเป้าเริ่มให้บริการได้ในปีหน้า

จากการสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบก ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่า กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดการให้บริการในลักษณะดังกล่าว เนื่องจาก หากเป็นการให้บริการในรูปแบบการเหมาจ่ายจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิดระเบียบการประกอบกิจการรถแท็กซี่มิเตอร์ ที่จะต้องกดมิเตอร์ในการคิดค่าบริการเท่านั้น

นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เปิดเผยว่า การให้บริการแท็กซี่แบบคิดค่าบริการรายเดือน เป็นการดำเนินการของ บริษัท มาย แท็กซี่ โดยเชื่อว่าการให้บริการลักษณะนี้ไม่ขัดต่อระเบียบการประกอบกิจการแท็กซี่มิเตอร์เพราะไม่ใช่การจ้างเหมา และจะมีการกดมิเตอร์ทุกครั้งที่ให้บริการ แต่ผู้โดยสารไม่ต้องจ่ายเงินตรงกับคนขับแท็กซี่ เพราะเป็นการจ่ายเงินผ่านบริษัทตัวกลางเป็นรายเดือนล่วงหน้า

สำหรับผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถให้ไปรับโดยไม่จำกัดเที่ยววิ่งผ่านแอปพลิเคชัน โดยแท็กซี่ที่เข้าร่วมการให้บริการจะต้องผ่านการอบรมพิเศษจากทางบริษัท เพื่อให้ดำเนินการตามนโยบายได้โดยไม่มีปัญหา และโครงการนี้ยังได้ดำเนินการผ่านกรมธุรกิจการค้าเรียบร้อยแล้วด้วย

ด้าน รศ.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า การให้บริการในลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบการให้บริการที่น่าสนใจ เพราะการแก้ปัญหาร้องเรียนการให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบัน ควรได้รับการแก้ไขด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้

สำหรับการให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นรวมถึงการบริการรูปแบบใหม่นี้ อาจช่วยลดจำนวนการวิ่งรถเปล่าของแท็กซี่ได้ แต่ในแง่ของการให้บริการ ต้องมีจำนวนรถที่เพียงพอต่อการให้บริการ เพราะหากรถไม่เพียงพอก็จะทำให้ผู้โดยสารต้องรอรถนาน ไม่สะดวกเหมือนกับไปเรียกด้วยตัวเอง หรือเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นจากผู้ให้บริการรายอื่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง