วันนี้ (1 พ.ย.2561) กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจ (สตง.) ตรวจสอบการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ออกุส ด้าเวสต์แลนด์รุ่น AW 139 และรุ่น AW 149 จากบริษัท ออกุสต้าเวสต์แลนด์ เอส.พี.เอ.ประเทศอิตาลี ของกองทัพบก ซึ่งมีราคาสูงกว่าเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 169 ที่นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประสบอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 169 ของเจ้าสัววิชัย ถูกพูดถึง สื่อก็นำมาข้อมูลมาอธิบายคุณสมบัติของมัน แต่เรื่องราคาดูเหมือนจะเตะตาเป็นพิเศษที่ระบุว่าลำละ 280 ล้านบาท
เห็นตัวเลขนี้ถูกหรือแพงคงตอบได้ยาก จนกว่าจะได้เห็นตัวเลขเปรียบเทียบ กับที่กองทัพบกเคยซื้อ รุ่นใกล้เคียงกัน AW 139 และ149 เฉลี่ยลำละ 600-700 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ นายศรีสุวรรณ จึงออกมาตั้งข้อสังเกต แล้วก็นำราคาการจัดซื้อมาเปรียบเทียบกัน โดยเฮลิคอปเตอร์ รุ่น AW 169 ของนายวิชัย มีมูลค่าคิดเป็นเงินไทย 280 ล้านบาทไทย
เดินหน้าร้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ที่กรมการขนส่งทหารบก จัดซื้อจัดหา รุ่น AW 139 และรุ่น AW 149 มีราคาสูงกว่าประมาณ 2 ถึง 3 เท่า ทั้งที่เป็นบริษัทเดียวกันเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย และในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2561 ตรวจสอบการจัดซื้อจัดหา ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความตั้งคำถามในเฟซบุ๊ก ถึงราคาที่ไทยจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ ทั้งรุ่น AW 139 และ 149 ในราคาเดียวกัน กับที่นายศรีสุวรรณ อ้างอิง พร้อมๆ กับตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใส และชี้ว่า ประธานบริษัทออกัสตา เวสต์แลนด์ ถูกศาลอิตาลี ตัดสินจำคุก เนื่องจากการให้สินบนแก่นายพลประเทศหนึ่ง เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือไม่
เทียบราคาจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์กองทัพ
สำหรับตัวเลขราคาเฮลิคอปเตอร์ ที่นักเคลื่อนไหวทั้ง 2 คนนี้อ้างอิง คือ ในปี 2555 มีการจัดซื้อ รุ่น AW 139 จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน 1,350 ล้านบาท เฉลี่ยเครื่องละ 675 ล้านบาท แต่รุ่นนี้ ในตลาดประกาศขายทั่วไป 396 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับมีส่วนต่างเกิดขึ้น 558 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2557 มีการจัดซื้อ รุ่น AW 139 เพิ่มอีก 2 เครื่อง วงเงิน 1,474 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยเครื่องละ 737 ล้านบาท จึงมีส่วนต่างเกิดขึ้นอีก 124 ล้านบาท และในปี 2559-2560 มีการจัดซื้อจัดหา รุ่น AW 139 เพิ่มอีก 6 เครื่อง พร้อมรุ่น AW 149 อีก 2 เครื่อง
พร้อมกับอ้างอิงว่า มีรายงานจากองทัพว่า มีจำนวนเกือบครึ่งจากที่จัดซื้อมา ถูกสั่งให้งดบิน ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมโซเชียลออนไลน์ก่อนหน้านี้
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ รุ่น AW 139 และ 149 จะมีราคาสูงกว่า AW 169 ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะกองทัพบก ไม่ได้จัดซื้อเฉพาะตัวลำเหมือนกับภาคเอกชน ที่กองทัพมีการเพิ่มอุปกรณ์เสริม
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ มีความคุ้มค่าในหลายมิติในการใช้งาน และย้ำถึงการผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกองทัพทุกรายการ และเฮลิคอปเตอร์ทุกลำยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
รู้จักเฮลิคอปเตอร์ของ "วิชัย" ที่ประสบเหตุตก