หลังแพทยสภา ยืนยันว่าไม่เกิน 5 ปี จะมีหมอในโรงพยาบาลรัฐเพียงพอต่อความต้องการ หลังแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้หมอในโรงพยาบาลรัฐไม่ต้องทำงานเกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงไม่ต้องทำงานหนักในเวลานอกราชการ หรือที่เรียกว่า "ควรเวร"
"จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจ Drama Addict หรือชื่อจริงคือ นพ.วิทวัส ศิริประชัย อดีตหมอในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ร่วมสะท้อนปัญหาของหมอกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า พบปัญหาของหมอในแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน หมอที่ทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ก็จะมีปัญหาแบบหนึ่ง ส่วนหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็กอย่างโรงพยาบาลชุมชนก็จะพบปัญหาอีกแบบ
นพ. วิทวัส เริ่มจากการเล่าปัญหาของหมอในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ว่า ส่วนใหญ่จะพบปัญหาในกลุ่ม "หมอจบใหม่" ที่เรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หมอกลุ่มนี้จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติม และจะต้องเข้าเวรตามวอร์ดต่างๆ และเวรฉุกเฉินด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าการเข้าเวรจะเป็นหน้าที่ของหมอทุกคนในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น "สตาฟ" (staff) และหมอจบใหม่ แต่พบปัญหา คือ สตาฟ มักจะบังคับขายเวรห้องฉุกเฉินทั้งหมดให้กับหมอจบใหม่ โดยให้หมอจบใหม่ไปจัดสรรกันเอง จนทำให้หมอจบใหม่มีภาระเพิ่มขึ้น
โรงพยาบาลที่มีปัญหาคือ สตาฟบังคับขายเวรให้เด็กจบใหม่รับทั้งหมด โดยให้แชร์กัน งานเลยโหลดที่เด็กจบใหม่ บางคนต้องรับถึง 20-30 เวรก็มี
ไทยพีบีเอสออนไลน์ขอให้ นพ.วิทวัส ทำความเข้าใจเพิ่มเติมระหว่าง "สตาฟ" และ "หมอจบใหม่" ซึ่งนพ.วิทวัส อธิบายว่า "สตาฟ" คือหมอที่ปฏิบัติงานประจำในโรงพยาบาลนั้นๆ อยู่แล้ว ส่วนมากเป็นหมอเฉพาะทาง เช่น หมออายุรกรรม หมอศัลยกรรม หมอสูติ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อหมอจบใหม่เข้ามาทำงานช่วงปีแรก ก็ต้องใช้ทุนและฝึกงานไปด้วย เพื่อเรียนรู้และฝึกงานจริงเพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เป็นหมอเต็มตัว โดยช่วงนี้ก็ต้องศึกษาหาความรู้จากสตาฟที่มีประสบการณ์ด้วย แต่บางที่เห็นหมอจบใหม่เป็นแค่แรงงาน ไม่เน้นการสอนให้ความรู้ แต่ให้ไปทำงานอย่างเดียว และใช้ให้ทำงานหลายๆ อย่างแทนสตาฟ
ปกติสตาฟต้องเข้ามาราวด์วอร์ด (ตรวจดูแลคนไข้ในวอร์ด) แล้วให้คำแนะนำกลุ่มหมอจบใหม่ถึงแนวทางรักษาคนไข้ แต่บางที่สตาฟไม่มาเลย แล้วให้เด็กจบใหม่ดูแลวอร์ดคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ
คำถามที่ตามมาคือสตาฟเหล่านี้ไปไหน ส่วนหนึ่งคือไปเข้าคลินิกส่วนตัว แล้วขายเวรให้หมอจบใหม่อยู่เวรแทน ส่งผลให้หมอจบใหม่ทำงานหนักขึ้น เพราะอาจเข้าเวรต่อเนื่อง 2-3 วัน ในบางกรณี ดังนั้นปัญหาไม่ใช่ขาดแคลนหมอ แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมของแพทย์ ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว
นพ.วิทวัส ศิริประชัย
สำหรับการแก้ไขปัญหาข้างต้น นพ.วิทวัส ระบุว่า อาจจะให้ผู้ใหญ่อย่างแพทยสภาคุยกับโรงพยาบาลต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกฝนหมอจบใหม่ ว่าต้องเป็นการเพิ่มพูนทักษะอย่างแท้จริง ไม่ใช่เด็กๆ จบใหม่ เป็นเพียงแค่แรงงาน
โรงพยาบาลต้องเป็นสถานศึกษาจริงๆ ไม่ใช่เอาหมอจบใหม่มาใช้งาน เป็นกรรมกรเสื้อขาว
โรงพยาบาลขนาดเล็กหมอขาด
ส่วนปัญหาที่พบในโรงพยาบาลขนาดเล็ก นพ.วิทวัส กล่าวว่า โรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาด 10-30 เตียง มีปัญหางานโหลดเพราะมีหมอน้อย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่มีหมอไม่เพียงพอ เพราะหมอส่วนหนึ่งออกไปจากระบบ และอีกสาเหตุคือหมอไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง จึงส่งผลให้หมอในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ
ในเมืองมีหมอ 1 คนต่อประชากรประมาณ 700 คน ต่างจังหวัดหมอ 1 คน ต่อประชากรมากกว่า 5,000 คนในบางพื้นที่
ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก อย่างโรงพยาบาลที่ นพ.วิทวัส เคยปฏิบัติงานเมื่อหลายปีก่อน หมอ 1 คน ต้องรับผิดชอบประชากรในพื้นที่ กว่า 19,000 คน ส่งผลให้หมอทำงานหนักขึ้น เพราะต้องตรวจผู้ป่วยนอกในช่วงเวลากลางวัน และต้องรับผิดชอบเวรทั้งหมดด้วยหมอคนเดียว
นพ.วิทวัส ยังวิจารณ์การแก้ไขปัญหาหมอไหลออกจากระบบในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหมอขาดแคลน ด้วยการเพิ่มการผลิตหมอ จากเดิมกว่าสิบปีที่แล้ว ผลิตหมอปีละประมาณ 1,000 คน แต่ช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา มีการเพิ่มอัตราผลิตหมอปีละประมาณ 2,000 คน ซึ่งการเพิ่มหมอลักษณะนี้อาจเป็นดาบสองคม เพราะการเพิ่มหมอจะต้องคำนึงถึงคุณภาพ เนื่องจากหมอไม่ได้เรียนเฉพาะตำรา แต่ต้องมีประสบการณ์ผ่านการศึกษาจากเคสคนไข้ด้วย เช่น การทำแผล การผ่าคลอด หรือซักประวัติ เป็นต้น
การผลิตหมอเร่งเป็น 2 เท่า แต่คนไข้ที่จะให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาไม่มากขนาดนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาเช่น น้องจบใหม่บางคนจบมาโดยไม่เคยทำหัตถการที่จำเป็น เช่น ขูดมดลูก ไม่เคยทำคลอด ไม่เคยใส่ท่อช่วยหายใจยังมี หลังๆ เลยมีปัญหาเยอะ ทั้งฟ้องร้อง ร้องเรียน แต่จะโทษหมอจบใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายเร่งการผลิตแพทย์มันบีบให้เป็นแบบนี้
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการกระจุกตัวของหมอ เช่น หมอกระจุกตัวอยู่ในเมือง ซึ่งหากยังเดินหน้าเพิ่มการผลิตหมอต่อเนื่อง แต่ยังไม่แก้ไขปัญหานี้ก็จะกลายเป็นสภาวะ "หมอเฟ้อ" ซึ่งจะทำให้หมอส่วนหนึ่งต้องออกไปทำอาชีพอื่น
ขณะที่การเพิ่มแรงจูงใจและค่าตอบแทนของหมอ พบว่าเพิ่มรายได้จนทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างหมอและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ มากจนเกินไป แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มแรงจูงใจต่อให้เพิ่มอย่างไรก็สูเอกชนไม่ได้ เพราะเอกชนมีแรงจูงใจด้านรายได้สูง
เอกชนประกันขั้นต่ำ 200,000 บาทก็มี ขณะที่รัฐวันนี้อาจมี 70,000-80,000 บาทเท่านั้น ถ้ารายได้จะถึงแสน ก็ถึงหลักแสนได้ แต้ต้องอยู่นานอย่างน้อย 5-7 ปี
ดังนั้น นพ.วิทวัส เสนอทางออกว่า เมื่อภาครัฐแข่งขันกับเอกชนเรื่องแรงจูงใจไม่ได้ ก็ควรเพิ่มความรับผิดชอบและการดูแลบุคลากรที่ดี เช่น เรื่องคดีความ จะเห็นว่าคดีของโรงพยาบาลรัฐ คดีจะไม่ถึงหมอ เพราะมีหน่วยงานต่างๆ เช่นกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำเลยอันดับแรก และมีนิติกรช่วยเหลือหมอเมื่อถูกดำเนินคดี
ขณะที่กรณีหมอถูกละเมิดหรือประจาน โรงพยาบาลรัฐก็ควรที่จะช่วยแก้ไขให้รวดเร็วเหมือนโรงพยาบาลเอกชน ยกตัวอย่างกรณีหมอในโรงพยาบาลเอกชน เมื่อมีญาติถ่ายคลิปด้วยความไม่เข้าใจ โรงพยาบาลจะปกป้องทันที เช่น การรีบทำความเข้าใจกับญาติ หรือหากไม่เข้าใจก็อาจถึงขั้นฟ้องร้อง แต่ของโรงพยาลรัฐกลับกัน กรณีลักษณะนี้หมออาจต้องขอโทษก่อนทั้งที่ไม่ได้ทำผิด
แนวคิดผู้บริหารต้องเปลี่ยน ชื่อเสียงช่างมัน รักษาบุลากรก่อน มองว่าบุคลากรเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่ฟันเฟือง เมื่อมีปัญหาก็ถอดออกแล้วเอาตัวใหม่ใส่เข้าไป
ถึงจุดนี้เห็นได้ชัดว่าปัญหาของหมอมีหลายระดับ ทั้งหมอในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งปัญหาทั้งหมดไม่อาจยุติได้เพียงเพราะการผลิตหมอเพิ่ม แต่คือการบริหารจัดการหมอให้เพียงพอและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้หมอเพียงพอต่อความต้องการของคนไข้ และให้บริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ