วันนี้ (10 พ.ย.2561) นายวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชา ชนจีน กล่าวปาฐกถาพิเศษ "จีนยุคใหม่ ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร " โดยเนื้อหาเน้นการเรียนรู้ทำความเข้าใจกับประเทศจีนในยุคใหม่ และการปรับตัวของชาวไทยรองรับการเติบโตของจีนในปัจจุบัน โดยระบุว่า จีนยุคใหม่ที่มีประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เป็นผู้นำ มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงตอกย้ำคือการพัฒนาต่อไป
ขณะเดียวกันยังคงมีสิ่งที่ชาติตะวันตก ต้องการให้จีนปรับตัวคือ สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าสู่ตลาด และสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้จีนอุดหนุนวิสาหกิจ ซึ่งต้องจับตาดูการพบกันของระหว่าง 2 ผู้นำประเทศมหาอำนาจระหว่างนายสี จิ้น ผิง และ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่อาร์เจนตินา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้
ส่วนความสัมพันธ์ไทย-จีนยังคงต้องมีต่อไป โดยเฉพาะรูปแบบความร่วมมือในลักษณะวิน - วิน มีการเอื้อประโยชน์กัน และเข้าใจกัน ซึ่งมีความร่วมมือมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และยุคใหม่ก็ควรที่จะอยู่ในหลักการเดียวกันนี้
นายวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง
ยุคใหม่จีน "ปฎิวัตินวัตกรรม"
นายวิบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้การลงทุนในประเทศจีน หากต้องการที่จะไปควรลงทุนในรูปแบบนวัตกรรม เพราะจีนยุคใหม่เป็นยุค "การปฏิรูปนวัตกรรม" ดังนั้นหากไม่ใช่การลงทุนในเชิงนวัตกรรมไม่ควรไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือจีนเปิด เขตเสรีการค้าในนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อทดลองระบบเศรษฐกิจเปิดภายใต้การเมืองแบบปิด ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จมากภายใต้การเมืองในรูปแบบของจีน
กระแสของจีนเหมือนลมที่พัดแรง มี 2 ทางเลือกคือ ต้านทานแรงลม หรือ กางใบเรือรับลม ประเทศไทยไม่มีทางเลือก คือต้องเปิดใบเรือรับลม แต่จุดสำคัญ คือ ต้องรับลม ให้ได้มุมที่สมดุลที่สุด ตอนนี้เราต้องเรียนรู้ และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ใช้โซเชียลดึง "ชนชั้นกลาง" จีน
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวอีกว่า มองจีนต้องมองคนจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ขณะนี้มีตัวเลขประมาณ 250 ล้านคน เป็นกลุ่มสำคัญที่กำลังเติบโตมีการตั้งเป้าว่าในปี 2049 ชนชั้นกลางจะต้องเกินครึ่งหนึ่งของประชากร และชนชั้นกลางให้ความสนใจโซเชียลมีเดียอย่างมาก และควรผลักดันอำนาจอ่อน (Soft Power) เพราะชาวจีนสนใจทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผลไม้ ละคร ทุกอย่างนอกเหนือจากเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งควรรักษาจุดนี้ให้คงอยู่ต่อไป เพราะชนชั้นกลางคืออนาคตของความสัมพันธ์ไทย-จีน
นอกจากนี้ นายวิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือ เส้นทางสายไหมของโลกดิจิทัลที่มาอย่างรวดเร็วอย่างมาก ซึ่งเร็วกว่าเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล ต้องทำอย่างไรให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และทำให้สินค้ามีความต้องการของผู้ซื้อเกิดขึ้น จากนั้นการตอบสนองหรือการผลิตสินค้าเพื่อรอง รับความต้องการของผู้ซื้อจะเกิดขึ้นได้เอง และจุดสำคัญคือ ผู้กำหนดกฎของไทยจะต้องทำให้มีสมดุลอย่างแท้จริงคือต้องไม่ปิดกั้น แต่ต้องหาประโยชน์ในช่องทางดิจิทัลให้เหมาะสม
ผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของจีน
จีนหวังกลับเป็น เบอร์ 1 โลก
ด้าน รศ.นิยม รัฐอมฤต คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต กล่าวว่า จีนยุคนี้ มีความโดดเด่น โดยเฉพาะระบบผู้นำร่วม ซึ่งนอกจากจะมีสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน แต่ยังมีผู้นำอีก 6 คน ในฐานะคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ที่ถือว่ามีโดดเด่นโดยเฉพาะวิสัยทัศน์ รวมถึงจุดหมายคือ จีนจะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
โดยจีนยุคนี้เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเห็นได้ชัดจากนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ที่ใช้แนวทางนี้เพราะส่วนหนึ่งถูกปิดล้อมจากชาติตะวันตกจากนโยบายต่างๆ
ในอดีตประเทศจีน เป็นหมายเลข 1 ของโลกไม่ต่ำกว่า 1,800 ปี ในช่วงของเวลากว่า 2,000 ปี จีนในยุคนี้จึงต้องการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
รศ.นิยม กล่าวอีกว่า ชาติตะวันตก มักมองบนวิธีคิดแบบความขัดแย้ง แต่จีนจะมองถึงความร่วมมือ และการเอื้อประโยชน์ แม้ว่าจะมีความแตกต่างก็อยู่ร่วมกันได้ รวมถึงนโยบายในอนาคตของจีนในปี 2049 ประเทศจีนต้องการเป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยเป็นประเทศของผู้มีรายได้ระดับปานกลาง
ไทยต้องเข้าใจจีนมากขึ้น
นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโสและนักวิชาการสถาบันศึกษาความมั่นคงนานาชาติ กล่าวว่า จากตัวเลขของชาวจีน ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยวันละกว่า 30,000 คน แต่ขีดความสามารถและองค์ความรู้ของคนไทยยังคงมีน้อย และยังคงเป็นคำ ถามว่าเราเข้าใจและรับมือได้แค่ไหน เช่น กรณีนักท่องเที่ยว ที่มาแล้วเสียงดังส่วนใหญ่มาท่องเที่ยวไทยเป็นประเทศแรกในการเดินทางออกนอกประเทศ และชาวจีนไม่ได้พูดภาษาจีนเพราะมีความต่างของภาษาในแต่ละท้องถิ่น
รวมถึงการเพิ่มทักษะให้ผู้ที่ต้องมีความสัมพันธ์ต่อนักท่องเที่ยวจีนอย่างมากทั้งมักคุเทศก์ และแท็กซี่ ซึ่งควรจะรู้ภาษาจีนมากขึ้น