ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยื่นขอสิทธิบัตร ทำอย่างไร ?

สังคม
13 พ.ย. 61
15:24
11,445
Logo Thai PBS
ยื่นขอสิทธิบัตร ทำอย่างไร ?
ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมขั้นตอนการขอสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ใครก็สามารถยื่นขอได้ง่ายๆ มีการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร 17 ปี ถึง12,987 รายการ แต่สามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรได้เพียง 6,641 รายการ ญี่ปุ่นมากสุด 2,723 รายการ

วันนี้ (13 พ.ย.2561) จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ไทยพีบีเอสออนไลน์ สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียนขอสิทธิบัตรหรือหนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ จากเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีขั้นตอนดังนี้

การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะต้องยื่นคำขอพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 500 บาท ที่ซึ่งคำขอจะต้องประกอบด้วย

  1. แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรแบบ สป/สผ/อสป/001-ก
  2. รายละเอียดการประดิษฐ์ ที่มีหัวข้อครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
  3. ข้อถือสิทธิ
  4. บทสรุปการประดิษฐ์
  5. รูปเขียน ( ถ้ามี )
  6. เอกสารอื่นๆ ( ถ้ามี ) เช่น หนังสือโอนสิทธิ สัญญาการว่าจ้าง หนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรองนิติบุคคล เป็นต้น โดยรายการที่ 2-6 ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมขึ้นเองในกระดาษ ขนาด A4

เมื่อยื่นคำขอตามแล้ว หากมีสิ่งบกพร่องที่แก้ไขได้เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนของผู้ขอทราบ เพื่อให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากดำเนินการไม่ทันก็สามารถขอผ่อนผันได้ หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขอจะต้องใช้แบบ สป/สผ/อสป/003-ก ในการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียม

ในกรณีคำขอถูกต้องหรือได้แก้ไขถูกต้องเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอมาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาเป็นเงิน 250 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้ง 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ และให้จัดส่งคำขอรับสิทธิบัตรชุดล่าสุดอีกหนึ่งชุดพร้อมทั้งส่งคำแปลข้อถือสิทธิ บทสรุปการประดิษฐ์เป็นภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านกรณีที่ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่ยื่นขอสิทธิบัตรนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์แอบเอาของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์มาจดทะเบียน

เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว ผู้ขอต้องยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 250 บาท โดยใช้แบบ สป/อสป/005-ก ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศโฆษณา หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ

ภายหลังจากมีการขอให้ตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสืบค้นเอกสารว่า เคยมีสิ่งประดิษฐ์เดียวกันหรือคล้ายกันหรือไม่ รวมทั้งตรวจค้นเอกสารจากต่างประเทศด้วย หากคำขอถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย จะแจ้งให้ผู้ขอมาชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียนเป็นเงิน 500 บาท และออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอต่อไป หากไม่ถูกต้องจะยกคำขอ

 

คำขอรับสิทธิบัตรผู้ยื่นคำขอต้องมีรายละเอียดประกอบคำขอ

1.แบบพิมพ์คำขอ แบบ สป/อสป/สผ/001-ก

2.รายละเอียดการประดิษฐ์ ต้องบรรยายรายละเอียด ที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้งอันจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติตามการประดิษฐ์นั้นได้ ดังนี้

  • ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
  • ระบุสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
  • ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง
  • อธิบายลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
  • เปิดเผยการประดิษฐ์โดย
  • อธิบายรูปเขียนแต่ละรูปโดยย่อ (ถ้ามี)
  • วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
  • ข้อถือสิทธิ
  • รูปเขียน (ถ้ามี)
  • บทสรุปการประดิษฐ์
  • รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 21
  • เอกสารประกอบคำขอ ตามที่ระบุในข้อ 14 ของแบบ สป/อสป/สผ/001-ก

เงื่อนไขในการยื่นคำขอ ต่างชาติ-การมอบอำนาจ

ในการขอรับสิทธิบัตร ให้ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนด ซึ่งคำขอรับสิทธิบัตรต้องมีรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และบทสรุปการประดิษฐ์ยื่นไปพร้อมกับคำขอ และในกรณีที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเข้าใจการประดิษฐ์ได้ดีขึ้นให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรจัดให้มีรูปเขียนประกอบคำขอรับสิทธิบัตรยื่นไปพร้อมกับคำขอด้วย

ส่วนกรณีที่การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพใหม่รายละเอียดการประดิษฐ์ให้หมายถึงหนังสือรับรองการฝากเก็บจุลชีพและ/หรือเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะหรือคุณสมบัติของจุลชีพนั้นซึ่งออกให้โดยสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะประกาศรายชื่อเป็นคราวๆไป

สำหรับการมอบอำนาจ กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรให้มอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักรโดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศหนังสือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าวหรือคำรับรองของบุคคลซี่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อหรือ

ส่วนกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทยต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราวหรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริงด้วย โดยหนังสือมอบอำนาจจะต้องติดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อ ตัวแทน 1 คน ต่อ 1 คำขอ

การดำเนินการตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่

ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอแล้วถ้าปรากฏว่าพบ สิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนของผู้ขอทราบเพื่อให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ ตามาตรา 27 เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอาจขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้ตามเห็นสมควร

สำหรับการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ผู้ยื่นคำขอต้องมาดำเนินการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทั้งนี้ คำขอที่แก้ไขเพิ่มเติม จะเข้าสู้กระบวนการพิจารณา การตรวจสอบเบื้องต้น ตามลำดับเสมือนการยื่นคำขอใหม่

ส่วนกรณียื่นคำขอทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ จะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลและรายละเอียดในคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรคำร้องหรือคำขออื่นๆจากข้อมูลและรายละเอียดที่ปรากฏในระบบ e-patent filing เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสารคำขอฯมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลขที่คำขอและวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรซึ่งการตรวจสอบคำขอที่ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต จะดำเนินการตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขสำหรับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรคำร้องหรือคำขออื่นๆผ่านอินเทอร์เน็ต

4 ช่องทางยื่นขอสิทธิบัตร

  1. ยื่นขอโดยตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี 11000 พร้อมชำระค่าธรรมเนียม
  2. ยื่นขอที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัด พร้อมชำระค่าธรรมเนียม 
  3. ส่งคำขอทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่กองสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี 11000 พร้อมชำระค่าธรรมเนียม 
  4. ยื่นคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ WWW.IPTHAILAND.GO.TH พร้อมชำระค่าธรรมเนียม

สถิติ 17 ปี ผ่านจดสิทธิบัตร 6,641 รายการ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบพบ สถิติการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร แยกตามประเทศ ตั้งแต่ปี 2544-2560 รวม 17 ปี พบว่า มีการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร ทั้งหมด 12,987 รายการ ไทยมากที่สุด 4,677 รายการ รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 3,918 รายการ ยุโรป 1,796 รายการ สหรัฐอเมริกา 1,282 รายการ  อาเซียน 112 และอื่น ๆ 1,202 รายการ

ขณะที่สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตรมีไม่ถึงร้อยละ 50 ของสถิติการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร สำหรับสถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตร ตั้งแต่ปี 2544-2560 พบว่า มีสถิติจดทะเบียนสิทธิบัตร ทั้งหมด 6,641 รายการ  มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 2,723 รายการ รองลงมา คือ ไทย 2,180 รายการ  ยุโรป 807 รายการ สหรัฐอเมริกา 449 รายการ อาเซียน 55 และอื่น ๆ 427 รายการเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง