วันนี้ (15 พ.ย.2561) กรณีคนไข้เข้ารักษาจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลเอกชนแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ จนทำให้มีหลายเคสที่ต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออุบัติเหตุ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนจากสาเหตุใดก็ตาม คงไม่มีอะไรสำคัญกว่าการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พ้นขีดอันตรายอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เวลาเพียงเสี้ยวนาที ก็มีผลว่าผู้ป่วยจะอยู่หรือไป
ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือระดับความฉุกเฉินสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ทันทีดูได้จากอะไรบ้าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.ให้ข้อสังเกต 6 อาการที่เข้าข่ายดังนี้
1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น ต้องได้รับการกู้ชีพทันที
2.การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่คนที่คุ้นเคยผิดเฉียบพลัน
3.ระบบหายใจมีอาการวิกฤต เช่น ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็วและแรง สำลัก อุดทางเดินหายใจ มีอาการเขียวคล้ำ
4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต อย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็น เหงื่อแตกท่วมตัว หมดสติหรือวูบเมื่อลุกขึ้น
5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ
6.อาการอื่นๆที่มีภาวะเสียงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ทันทีทันใด ชักเกร็ง
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่
นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ สพฉ.ยืนยันว่า ไม่ว่าจะผู้ป่วย จะใช้สิทธิรักษาอะไร สถานพยาบาลต้องยึดเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วยก็เป็นอันดับหนึ่ง
อาการทั้งหมดของผู้ป่วย ถ้าประเมินแล้วว่าเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยก็จะได้รับสิทธิการรักษาตามโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" หรือ UCEP ตามนโยบายของรัฐ ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2560 เพื่อลดความสูญเสีย และดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลเร็วที่สุด
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีสิทธิรับการรักษากับโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัยภายใน 72 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายทั้งหมด และการประสานส่งต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ ดูแลให้
ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เดิมเคยเจอว่าคนที่ไปใช้สิทธิแล้วไม่สามารถเข้าถึงบริการ ซึ่งกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินวิฤกต ถ้ารัก ษาไม่ทันภายในหลักหน่วยนาที ก็จะเสียชีวิต ดังนั้นก็เข้ารับบริการที่ไหนก็ได้
ถ้าเจ็บป่วยที่ไหนสามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และเขาจะดูแลในช่วงวิกฤติ มีระยะเวลา 72 ชั่วโมง โรงพยาบาลจะดูแลจนพ้นขีดอันตราย ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยจนกว่าจะเคลื่อนย้ายส่งตัว ซึ่งต้องมีการติดต่อส่งไปโรงพยาบาลในสังกัด
ระบบเดิม ถ้าโรงพยาบาลเอกชนให้บริการเรียกเก็บมาบิล สปสช. แต่อัตราการจ่ายจะใช้ตามระบบวินิจ ฉัยร่วมหน่วยละ 15,000 บาท และโรงพยาบาล มองว่าจ่ายไม่ไหว จึงเอามาปรับเป็นระบบ UCEP เราจะจ่ายตามอัตรา และจะเรียกตามรายการที่เกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน เช่น การเย็บแผล การผ่าตัด ซึ่งราย การที่เกิดขึ้นในห้องฉุกเฉินรัฐ และเอกชนมาดู และหาราคาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ และอาจจะไม่เท่ากับที่โรงพยายาลเรียกเก็บตัวที่เราจ่ายจะเป็นราคากลาง
แต่มีข้อแม้ว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และจะทบทวนทุกปี และเพื่อให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ประชาชนมั่นใจว่าถ้าฉุกเฉินจริงไปแล้ว ไปแล้วเขาจะรักษาให้เรา
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขณะนี้มีการแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เดิมเขียนไว้ถ้ามีผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลต้องดูแลให้ก็จริง แต่ในนั้นไม่ได้พูดถึงค่าใช้จ่าย ทำให้เขามาคิดเงินกับคนไข้จนเป็นภาวระกับผู้ป่วย แต่ใน พ.ร.บ.ใหม่ ไม่ต้องเก็บกับคนไข้ และให้เรียกเก็บกับ สปสช.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรม การเบิกจ่าย
สิ่งทำมากสุดคือการประสานหาเตียง เพราะกติกาที่เอกชนดูแล 72 ชั่วโมงถ้าปลอดภัยและย้ายกลับได้ สปสช.จะทำหน้าที่ในการประสานกับคนไข้ เพื่อส่งกลับไปในโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิ์
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษา โดยไม่ต้องสำรองจ่ายใน 72 ชั่วโมง ประมาณ 30,000 คนทั้งผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม
ขณะที่อีกประมาณ 14,000 คนไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องประสานโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาที่สังกัด แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการจะรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย