นักวิทยาศาสตร์วิจารณ์ไดโนเสาร์ไม่สมจริงใน Jurassic World
ความชื่นชอบของแฟนหนังที่มีต่อสัตว์ดึกดําบรรพ์อย่างไดโนเสาร์ ส่งให้ Jurassic World ผลงานที่ดัดแปลงมาจาก หนังไดโนเสาร์ไตรภาคระดับตำนานอย่าง Jurassic Park กลายเป็นหนังที่เปิดตัวร้อนแรงที่สุดของปี ด้วยการทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศใน 11 สาขา รวมถึงการเป็นหนังที่เปิดตัวรอบโลกด้วยรายได้สูงสุดตลอดกาลที่ 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทำรายได้ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทวีปอเมริกาเหนือ และ 100 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเปิดตัวในจีน
หากแต่กลุ่มคนที่ไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งก็คือบรรดานักวิทยาศาสตร์ในสาขาบรรพชีวินวิทยา ผู้ศึกษาซากฟอสซิลเกี่ยวกับสัตว์ดึกดําบรรพ์ ได้วิจารณ์ผู้สร้างหนัง Jurassic World ว่า ถ่ายทอดลักษณะไดโนเสาร์ไม่ต่างจากในหนัง Jurassic Park ภาคแรก ทั้งที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์มีการค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับไดโนเสาร์มากขึ้น โดยเฉพาะกาารค้นพบซากฟอสซิลที่ยืนยันว่าไดโนเสาร์กินเนื้อในหนัง อย่าง ไทแรนโนซอรัส และ เวโลซีแรปเตอร์ มีร่างกายปกคลุมด้วยขนคล้ายกับนก ไม่ใช่ผิวเป็นเกล็ดเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงข้อมูลยืนยันสีผิวของไดโนเสาร์แต่ละสายพันธุ์ ซึ่งการที่ Jurassic World ยังคงสร้างไดโนเสาร์ด้วยข้อมูลเดิมเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ทำให้ผู้ชมไม่ได้รับความรู้ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการค้นคว้ามานานหลายปี
ล่าสุดทาง โคลิน เทรเวอร์โรว์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Jurassic World ออกมาชี้แจงว่า ผลงานเรื่องนี้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ไม่ใช่หนังสารคดี ความตั้งใจสูงสุดของผู้สร้างคือให้มีความต่อเนื่องของภาพยนตร์ด้วยการสร้างไดโนเสาร์ให้มีลักษณะเหมือนกับที่เคยปรากฏในหนัง 3 ภาคที่แล้ว
โดยตามเนื้อเรื่องในภาคใหม่ ดร.เฮนรี หวู หัวหน้าทีมพันธุศาสตร์ที่เพาะพันธุ์ไดโนเสาร์มาตั้งแต่ภาค Jurassic Park อธิบายว่าทีมงานไม่สามารถค้นหาดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ของจริงได้ครบ จึงต้องนำดีเอ็นเอของกบและปลาหมึกมาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้กระบวนการเสร็จสมบูรณ์ แต่เดิมเขาเสนอให้มีการใช้ดีเอ็นเอของนกขมิ้นมาใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อทำให้ไดโนเสาร์มีความเชื่องมากขึ้น แต่ผู้กลุ่มผู้ลงทุนต้องการให้ไดโนเสาร์ในสวนสนุกมีความน่ากลัว ซึ่งน่าจะดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า
ล่าสุด คริส แพรตต์ ดารานำของเรื่องได้เซ็นสัญญาแสดงใน Jurassic World ภาคใหม่แล้ว ซึ่งต้องลุ้นว่ากระแสเรียกร้องในแวดวงวิทยาศาสตร์ จะทำให้ผู้สร้างหันมาถ่ายทอดไดโนเสาร์ให้ใกล้เคียงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นแค่ไหน
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- Jurassic Park
- Thai PBS
- thaipbs
- คริส แพรตต์
- จูราสสิคพาร์ค
- จูราสสิคเวิลด์
- ดร.เฮนรี หวู
- นักวิทยาศาสตร์
- นักวิทยาศาสตร์วิจารณ์Jurassic World
- บรรพชีวินวิทยา
- บ็อกซ์ออฟฟิศ
- ผู้กำกับภาพยนตร์ Jurassic World
- ภาพยนตร์ไดโนเสาร์
- ภาพยนตร์ไดโนเสาร์ไตรภาค
- เวโลซีแรปเตอร์
- โคลิน เทรเวอร์โรว์
- ไดโนเสาร์
- ไดโนเสาร์ไม่สมจริงในJurassic World
- ไทยพีบีเอส
- ไทแรนโนซอรัส