ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คปภ.สั่งบริษัทประกันจ่ายค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ

เศรษฐกิจ
20 พ.ย. 61
12:45
27,434
Logo Thai PBS
คปภ.สั่งบริษัทประกันจ่ายค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ
คปภ.ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาร้องเรียนบริษัทประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์ระหว่างการซ่อมรถ ซึ่งจะกำหนดให้ทุกบริษัทต้องจ่ายตามขนาดรถในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500-1,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปีหน้า

วันนี้ (20 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดปัญหาร้องเรียนกรณีการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยบริษัทประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์ เพราะประชาชนไม่มีความรู้ หรือมีการจ่ายในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ระเบียบมีการกำหนดให้จ่ายตามฐานานุรูป ขนาดของเครื่องยนต์ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทประกันภัย

 

 

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ข้อสรุปการปรับปรุงความคุ้มครอง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัย และอยู่ระหว่างนำไปเคลมซ่อมแล้ว โดยจะกำหนดการจ่ายเป็น 3 กลุ่มให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จากก่อนหน้านี้ ยังมีความคลุมเครือทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนเข้ามา ประกอบด้วยกลุ่มแรก รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท กลุ่มที่ 2 รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท และกลุ่มที่ 3 รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

ขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างยกร่างคำสั่งนายทะเบียน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และจะบังคับใช้ได้ในต้นปีหน้า และเมื่อมีคำสั่งนายทะเบียนออกมาแล้ว บริษัทจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์ ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

 

 

ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนมีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน อาจถือได้ว่าบริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้อง หรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูงปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง