ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สวนส้มฉีด "ยาปฏิชีวนะ" หวั่นผู้บริโภคดื้อยา

สังคม
21 พ.ย. 61
08:22
33,046
Logo Thai PBS
สวนส้มฉีด "ยาปฏิชีวนะ" หวั่นผู้บริโภคดื้อยา
เครือข่ายเภสัชกรชายแดน สุ่มสำรวจ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบผู้ที่มีเชื้อดื้อยากว่า 200 คน คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม และยังพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มน่าเป็นห่วง ไม่มีการควบคุม

วันนี้ (21 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของเครือข่ายเภสัชกรชายแดน โพสต์ภาพการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม ด้วยการฉีดเข้าต้นส้ม พร้อมกับข้อความแสดงถึงความวิตกกังวล เกี่ยวกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ หรือ Anti-Biotic ในผลผลิต สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรผู้สัมผัสยาโดยตรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา โดยระบุว่า

ทีมงานเภสัชกรชายแดน ร่วมกับทีมทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม

 

แม้จะมีข้อมูลเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ราว 5 ปี ตั้งแต่มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม ผ่านท่อน้ำเลี้ยง ท่ออาหาร เพื่อกำจัดเชื้อคล้ายแบคทีเรีย Bacteria like ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มได้

ขณะที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านการเกษตร ระบุว่า มีการใช้เฉพาะในพื้นที่จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในเวลานั้น ได้เริ่มมีเกษตรกรชาวสวนส้ม นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้แล้ว

ทีมงานพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเกษตรกรจะไปซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาอันตรายที่ต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร ไม่สามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป) มาแกะเม็ดแคปซูลออก เอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำใส่ขวดแล้วนำมาฉีด โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย

 

ทีมงานฯ พบผง Amoxycillin เกลื่อนพื้นดิน ซึ่งสามารถซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้ พบชาวสวนเกษตรกรสัมผัสผงยาโดยตรง และแน่นอนว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นจากการตกค้างในผลส้ม นำไปสู่สภาวะเร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยา และบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม การที่แพ้ยาอาจจะแพ้ยาถึงขั้นแพ้แบบรุนแรง ทั้งแบบ Steven-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ที่เป็นการแพ้ยาที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการที่เซลล์ผิวหนังตาย ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีการมีแผลในบริเวณช่องปากและที่ริมฝีปาก (อาจเกิดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ และที่บริเวณก้นด้วยก็ได้) และเริ่มมีอาการทางผิวหนัง คือเกิดผื่นและผิวหนังที่เกิดผื่นจะเกิดการลอกอย่างรุนแรงตามมา

เกษตรกรชาวสวนส้ม เจ้าของสวนส้ม นักวิจัยด้านเกษตร นักวิชาการและข้าราชการด้านส่งเสริมการเกษตร อาจต้องมองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้พบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารมากขึ้น กระทั่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า มนุษย์จะไม่มียาใช้สำหรับต่อสู้กับเชื้อธรรมดาพื้นฐาน เพราะร่างกายของมนุษย์ดื้อต่อยาต่างๆ ไปเสียแล้ว

พบผู้ป่วยดื้อยาใน อ.เชียงของ

ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เครือข่ายเภสัชกรชายแดน ระบุว่า จากการสุ่มสำรวจพบพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีผู้ป่วยดื้อยากว่า 200 คน เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการเกษตร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาควบคุมการใช้ยาและหาวิธีการแก้ไขปัญหา

“ยาปฏิชีวนะ” รักษาโรคกรีนนิ่งในส้ม

ผศ.อังสนา อัครพิศาล หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคกรีนนิ่ง เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการระบาดของโรคกรีนนิ่งในพื้นที่ตอนบนของ จ.เชียงใหม่

ตามหลักควรฉีดเข้าต้นส้มหลังจากตัดแต่งกิ่ง หลังจากนั้นทิ้งไว้ 3 เดือนจะไม่มีสารตกค้างในผลผลิต แต่เกษตรกรน่าจะขาดองค์ความรู้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความรู้ เพื่อที่จะสามารถใช้ได้ถูกวิธี

การใช้คงจะต้องใช้ให้เหมาะสมและต้องใช้ให้ถูกต้องตามเวลาด้วย ถ้าใช้แค่ 3-4 เดือนก็จะไม่มีสารปฏิชีวนะตกค้าง

 

นายสุชาติ วงค์ชื่น เกษตรอำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวสวนส้มส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคกรีนนิ่ง เพราะเป็นวิธีเดียวในการรักษา เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ใช้อย่างถูกวิธี ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงทำการวิจัยค้นคว้าหาวิธีอื่นมาแทนยาปฏิชีวนะ

มันเป็นสิ่งจำเป็นในระยะที่เฉียบพลัน เพราะปล่อยไปจะทำลายสวนทั้งสวนเลย เกษตรกรก็บอกว่าจำเป็นต้องใช้ แต่จะต้องควบคุมปริมาณการใช้และระยะเวลาการใช้

จากการเก็บข้อมูลของเครือข่ายเภสัชกรชายแดน พบว่าพื้นที่ อ.เชียงของ มีผู้ที่มีเชื้อดื้อยากว่า 200 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าห่วง โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการตรวจสอบแล้ว พร้อมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่มีสวนส้มและพบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเข้าตรวจสอบด้วย เนื่องจากปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กพย.พบกระชังเลี้ยงปลา-กุ้ง ลักลอบโปรยยาปฏิชีวนะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง