นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงสถานการณ์ของคนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า จากการสำรวจของมูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2558 พบมีบุคคลเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ประมาณ 1,300 คน ขณะที่ทั่วประเทศมีกว่า 30,000 คน
แต่หลังจากรัฐบาลจัดระเบียบคนเร่ร่อนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่กันแบบกระจัดกระจาย ไม่เกาะกลุ่มกันเหมือนเดิม โดยพบว่าปัญหาของคนไร้ที่พึ่งคือ การเสียสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง เนื่องจากบางคนบัตรประชาชนหาย ไม่สามารถไปต่อบัตรประชาชนได้ และไม่มีใครรับรองตัวบุคคลได้
ส่วนการแก้ไขปัญหาขณะนี้พบว่าภาครัฐยังมองว่ากลุ่มคนเร่ร่อนเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงก่ออาชญากรรม ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด อย่างไรก็ตามมีความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม โดย สสส.ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กรมสุขภาพจิต, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและมูลนิธิกระจกเงา ได้ลงนามร่วมกันเพื่อบูรณาการระบบดูแลคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยพบว่าคนเร่ร่อนนอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขแล้ว ยังมีคนเร่ร่อนร้อยละ 30 มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งการร่วมมือของ 7 องค์กรในครั้งนี้จะทำให้ทุกคนในสังคมหันกลับมามองถึงปัญหาคนไร้บ้านและช่วยเหลือกลุ่มคนเร่ร่อนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างไร้รอยต่อ คือ "นำเข้า-รักษา-ส่งต่อ"