เวทีเสวนา เรื่อง "การเมืองไทยกับการสร้างคนไทยศตวรรษที่ 21" จัดโดยคณะทำงานเครือข่ายสื่อมวลชน คณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สถานีไทยพีบีเอส มีนักการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ อาทิ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.), รศ.โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.), ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
รู้เขา-รู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ
นายนิกร กล่าวว่า การปรับตัว 80 ปีนับจากนี้ ต้องยึดหลักซูนวู คือ “รู้เขา-รู้เรา” ประเด็นแรก คือ “รู้เรา” ต้องรู้จักความเป็นไทย โดยเฉพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่จะใช้สานสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ รวมถึงรู้จักใช้ต้นทุนที่มี เช่น น้ำ-ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ในการแข่งขัน ไม่ใช่ฝันถึงแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ไทยเราเป็นศูนย์กลางอาเซียน และโลกก็กำลังสนใจอาเซียน เราจึงมีโอกาสในการพัฒนา
ประเด็นที่ 2 คือ “รู้เขา” รู้จักเพื่อนบ้านและประเทศในเอเชีย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าไทยไม่ใช่ประเทศหลักในการประดิษฐ์นวัตกรรม (Main Steam) แต่ไทยแข่งขันได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านั้น เช่น คนไทยผลิตรถยนต์เองไม่ได้ แต่ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ได้ ดังนั้นนวัตกรรมเหล่านี้เหมือนเป็นยานพาหนะ ที่เราต้องรู้จัก “ขี่” เพราะถ้ามัวคิดค้นและพลักดันด้วยตนเองจะพัฒนาช้า
ห่วง 4.0 เราจะขี่มัน หรือให้มันขี่เรา
สรุปไทยต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการแข่งขั้นและกุมพื้นที่อาเซียนไว้ ที่สำคัญการเมืองต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนที่ดีและเป็น “ผู้นำ” ไม่เช่นนั้นคนที่อยู่ในประเทศจะเดือดร้อน นอกจากนี้ต้องลดความขัดแย้ง เช่น คววามขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของนายทุนและประชาชน หลังจากนี้ต้องปรองดอง เพราะไทยติดกับดับความขัดแย้งมานานกว่า 10 ปี
คนรุ่นใหม่ต้องเป็น “เจ้าของอำนาจ”
รศ.โภคิน กล่าวว่า การปรับตัวสู่ยุคใหม่ นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ต้องเลือก และระบุให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นเจ้าของอำนาจประเทศ แม้รัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ตั้งแต่หลัง ปี 2475 ว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่การยึดอำนาจทุกครั้ง ผู้ยึดอำนาจจะอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ดังนั้นการก้าวสู่ยุคใหม่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ
ขณะที่ปัจจุบันไทยติดปัญหาการเมืองไม่มั่นคงและการบริหารไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาคือแก้ไขเรื่องอำนาจ โดยคนรุ่นใหม่ต้องเลือก ว่าจะเป็นเจ้าของอำนาจหรือให้คนอื่นเป็น "เจ้านาย" แล้วตนเองเลือกเป็น "ผู้รับใช้" นอกจากนี้จะต้องเลือกว่าจะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง หรือจะปล่อยผู้มีอำนาจมาเปลี่ยนเรา
ทั้งนี้สังคมไทยติดกับดัก "อำนาจนิยม" ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นมาก จากเดิมคนยึดอำนาจแค่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง แต่วันนี้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลกลายเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย
รัฐธรรมนูญที่เขียนมากกว่า 200 มาตรา แพ้มาตรา 279 มาตราเดียว
อ่านเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ดังนั้นการแก้ไขจริยธรรมหรือคุณธรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการแก้ไข "การโกงอำนาจประชาชน" ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำคัญว่าประชาชนจะเลือกพรรคไหน แต่สำคัญว่าจะช่วยกัน ไม่ให้มีการโกงอำนาจอย่างไร
ไทยติดระบบ "บุญคุณ" กระทบผลประโยชน์ชาติ
ศ.กนก กล่าวว่า ประเทศไทยติดระบบ "บุญคุณ" วิธีแก้ต้องสร้างแบบจำลองให้นักเรียนทดสอบการตัดสินใจระหว่าง "บุญคุณ" แลกกับ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เราจะทำอย่างไรให้เดินหน้าทั้งสองอย่างได้ แต่ไม่เสียประโยชน์ประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นการตัดสินใจจากคุณธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อยากเห็นคุณธรรมเป็นอัตลักษณ์คนไทย ใช้คุณธรรมตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะสถานการณ์ เชื่อว่าจะช่วยรักษาบ้านเมืองไว้ได้
ทั้งนี้ การพัฒนาคนไทยในศตวรรษที่ 21 คือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงค้นหา "วิถีประชาธิปไตย" ที่เข้ากับสังคมไทย โดยเน้นการแก้ไข 3 ปัญหา คือ 1.ความยากจน 2.ความไม่รู้ และ 3.ความขัดแย้ง
เราไม่มีเวลาแล้ว ต้องเลิกทะเลาะกัน การเมืองต้องไม่ต่อสู้หรือแข่งขันด้วยวิธีที่ไม่สร้างสรรค์
ข้อสรุปจากการแสดงวิสัยทัศน์ของตัวแทนนักการเมือง คือการเน้นถึงความสำคัญของการเมืองที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นกลไกที่สำคัญคือการปลดล็อกการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศ