ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย.ชี้แจงอนุญาตร้านยาขาย "ลอราทาดีน"

สังคม
28 พ.ย. 61
20:22
3,513
Logo Thai PBS
อย.ชี้แจงอนุญาตร้านยาขาย "ลอราทาดีน"
อย.ยืนยันเหตุผลปรับลดสถานะยารักษาโรคภูมิแพ้ "ลอราทาดีน" จากยาอันตรายที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร ให้สามารถขายได้ในร้านขายยา รวมถึงปรับลดขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผง โดยต้องระบุข้อความเตือนบนฉลากยาให้ชัดเจน ป้องกันประชาชนใช้ยาผิดโรค

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่า คณะกรรมการยาพิจารณาปรับลดสถานะยาแก้แพ้ "ลอราทาดีน" อย่างรอบคอบแล้วว่า ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงน้อย ไม่พบอาการรุนแรง หรือส่งผลต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยมาก ขณะที่คนไทยป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มากถึงร้อยละ 10-30 ของประชากร แต่การเข้าถึงยายังไม่ดีมากพอ หากไปรอรับยาที่โรงพยาบาลอาจต้องใช้เวลานาน


การปรับลดสถานะยาดังกล่าว จากเดิมที่อยู่ในประเภทยาอันตรายต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น มาเป็นยาบรรจุเสร็จ สามารถจำหน่ายได้ตามร้านขายยาทั่วไปทั้งที่มีและไม่มีเภสัชกรประจำร้าน รวมถึงการปรับลดขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผงเท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตจะต้องระบุข้อความบนฉลากยาว่า "ใช้เฉพาะโรคภูมิแพ้ ไม่ลดน้ำมูกในโรคหวัด" เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้ยาผิด

รองเลขาธิการ อย. ระบุอีกว่า การปรับสถานะยาไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยา เพราะเป็นยาที่ใช้แพร่หลายอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบริษัทยาในต่างประเทศจัดให้ยาลอราทาดีนซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป

ค้านปรับลดสถานะยา "ลอราทาดีน"

หลัง อย.ประกาศปรับลดสถานะยาแก้แพ้ลอราทาดีน เป็นยาไม่อันตราย ส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายเภสัชกรชนบทและกลุ่มวิชาชีพเภสัชกร ออกมาคัดค้านประกาศดังกล่าวและเตรียมยื่นหนังสือถึง อย.ให้ยกเลิกประกาศและยุติการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมองว่าการปรับลดสถานะยาแก้แพ้ลอราทาดีนมีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากกว่าผลดี


ภกญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เดิมยาแก้แพ้ลอราทาดีนอยู่ในประเภทยาอันตราย ที่ผ่านมามีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฎิกิริยากับยาตัวอื่น โดยข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.ปี 2560 มีอาการไม่พึ่งประสงค์จากการใช้ยาลอราทาดีนกว่า 501 เคส

ภกญ.สุภาวดี ระบุอีกว่า เดิมยาลอราทาดีนจะจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาประเภท ขย.1 คือมีเภสัชกรควบคุม แต่หากมีการปรับลดสถานะจะสามารถวางขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท ขย.2 ซึ่งไม่ต้องมีใบสั่งยา หรือเภสัชกรดูแล ทำให้เสี่ยงต่อการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล และสิ่งที่น่ากังวัลมากที่สุดคือจะทำให้ผู้ผลิตยาสามารถโฆษณาสรรพคุณของยาผ่านทางสื่อต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย จึงเพิ่มความเสี่ยงที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการใช้ยามากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง