วันนี้ (30 พ.ย.2561) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ “ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายของปี” บันทึกในช่วงเช้ามืดวันที่ 30 พ.ย.2561 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ดาวศุกร์ปรากฏสว่างสุกใส ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นลักษณะดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีดาวสไปกา ซึ่งเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวหญิงสาว ปรากฏอยู่ใกล้กันเหนือขึ้นไปด้านบนขวา
การที่ “ดาวศุกร์สว่างมากที่สุด” เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม ในปีนี้จะปรากฏในลักษณะดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับวันที่ 25 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา ปรากฏในเวลาหัวค่ำ และครั้งนี้ในวันที่ 30 พ.ย.2561 ปรากฏเวลาเช้ามืด สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่เนื่องด้วยตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก ขนาดปรากฏลดลงความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
หลังจากวันที่ 30 พ.ย. ความสว่างปรากฏของดาวศุกร์จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมองเห็นสว่างโดดเด่นบนท้องฟ้าในช่วงเวลารุ่งเช้ายาวไปจนถึงเดือน ก.ค.2562
"ดาวศุกร์" เป็นดาวเคราะห์วงในลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ แต่จะปรากฏเป็นเสี้ยวให้เห็นความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางฟ้าหรือในเวลาดึก ๆ
ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”