นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวกรณี The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 จัดอันดับไทยเหลื่อมล้ำมากสุดในโลก ว่า ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก ส่วนสาเหตุที่รายงานมีข้อสรุปแบบนั้น เพราะวัดผลจากดัชนีการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งจะต้องใช้ “ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง” อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเพียง 35 ประเทศ จาก 133 ประเทศ ที่มีข้อมูลสมบูรณ์ แต่ไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นผู้จัดทำรายงานจึงใช้ “ข้อมูลด้านรายได้” ไปคำนวณการถือครองความมั่งคั่ง และใช้วิธีทางเศรษฐมิติคำนวณออกมา โดยข้อมูลด้านรายได้ยังเป็นข้อมูลเก่าเมื่อปี 2549 จึงทำให้รายงานดังกล่าวเป็นการประเมินผลแบบหยาบและไม่สามารถใช้อ้างอิงสถานการณ์ของไทยทั้งหมดได้
ทั้งนี้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย อ้างอิงจากมาตรฐานธนาคารโลกผ่านค่าสัมประสิทธิ์จีนี(GINI Coefficient Index) ที่ธนาคารโลกใช้วัดความเหลื่อมล้ำ โดยดัชนีจีนีมีค่าระหว่าง 0-1 หรือ 100% หากผลอยู่ในระดับต่ำหมายถึงมีการกระจายรายได้และรายจ่ายที่ดี
ขณะที่การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ล่าสุด ปี 2558 พบว่า ไทยมีดัชนีจีนี 0.36 (36%) เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ มีดัชนีจีนี 0.33 (33%) และสหรัฐอเมริกามีดัชนีจีนี 0.415 (41.5%) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำไทยมีระดับไม่แตกต่างกันมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ขณะการคำนวณดัชนีจีนีของไทย ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ตัวอย่าง 52,010 ครัวเรือน สำรวจทุก 2 ปี) พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำของไทยลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด รายงานปี 2560 มีดัชนีจีนีด้านรายได้ 0.453(45.3%) ลดลงจากปี 2550 ที่มีดัชนีจีนีด้านรายได้ 0.499 (49.9%)
ทั้งนี้สถานการณ์ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุดและรายได้น้อยสุด มีแนวโน้มแคบลงต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีความแตกต่างเพียง 19.29 เท่า ขณะที่ปี 2550 มีความแตกต่างถึง 25.10 เท่า
อ่านเพิ่มเติม เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ