วันนี้ (12 ธ.ค.2561) นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟน.ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ศึกษาแผนการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งคาดว่าภายในปี 2579 หรืออีก 18-19 ปีในไทยจะมียานยนต์ไฟฟ้ามากถึง 1.2 ล้านคัน โดยมีการศึกษากฎระเบียบ ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสำหรับระบบชาร์จไฟ
การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนของรัฐบาลนั้น คาดว่าจะส่งผลให้ไทยต้องมีปริมาณกําลังผลิตไฟฟ้า ประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ บวกกับกําลังผลิตไฟฟ้าสํารองที่ 15-20 %
ผลการศึกษาจากรายงานแผนพฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ ระหว่างเวลา 20.30 - 22.30 น. ในกรณีที่มีรถไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ระหว่างปี 2560-2579 ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 0.02-8.20 หรือใช้ไฟเพิ่มขึ้นเพียง 3,928 เมกะวัตต์
ภาพ : กฟน.
นายจุมภฎ กล่าวว่า อนาคตอันใกล้คาดว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อมาใช้งาน โดยจะมีการออกกฎระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมมาตรฐาน ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย เช่น ข้อกำหนดในการเชื่อมต่อสถานีอัดประจุไฟฟ้า กำหนดการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับระบบยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
รถไฟฟ้า 1 คันเทียบไฟเครื่องทำน้ำอุ่น
นายจุมภฎ กล่าวว่า ผู้ที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานอาจต้องศึกษา และปรับพฤติกรรมการใช้งานเพื่อเพิ่มความคุ้นเคย และสามารถใช้งานได้อย่างไม่ติดขัด นอกจากนี้ยังมองว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอาจเกิดความไม่พร้อม และไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน หากเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้ อาจคล้ายในยุคที่สมาร์ทโฟนในอดีต ซึ่งขณะนั้นสามารถใช้งานได้ในเพียงบางพื้นที่เท่านั้น แต่ก็ถือว่าขณะนี้ไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว
รถยนต์ไฟฟ้า ประเภท Plug-in Hybrid (PHEV) จะมีทางเลือกคือการเติมน้ำมัน ตามปั้มน้ำมันทั่วไป หรือว่าถ้าไม่อยากเติมน้ำมัน ก็เสียบปลั๊กไฟที่บ้าน แต่อาจจะต้องใช้เวลานาน แต่หากไปเติมที่ปั้มบริการก็จะใช้เวลาชาร์จเร็วขึ้น และหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภท EV ทางเลือกในการชาร์จไฟก็มีเฉพาะที่บ้าน สถานีให้บริการ เช่น ศูนย์การค้า
ส่วนกรณีที่คนกังวลถึงความพร้อมของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งาน ชาร์จเครื่องรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต หากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากจะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นายจุมภฎ กล่าวว่า ภาพรวมความพร้อมมองว่าเพียงพอ
รถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ไม่ว่าจะเป็นแบบ Plug-in, Hybrid, EV-PHEV จะมีตัวชาร์จอยู่ที่ประมาณ 3.3 กิโลวัตต์ เทียบได้กับเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง หรือเท่ากับแอร์ตัวเล็กๆ 2 เครื่อง หากเสียบแบบดั้มชาร์จ เสียบแบบโทรศัพท์มือถือ ในเบื้องต้นเชื่อว่าเพียงพอ
แต่ในอนาคต เช่น คอนโดมิเนียมเก่า ไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อจะรองรับเทคโนโลยี อาจต้องพิจารณาเป็นจุด ๆ ขณะที่บ้านเรือนต่างๆ อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้มิเตอร์ที่รับกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น ระดับ 100 แอมแปร์ อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าเสียบพร้อมกันในตอนนี้เพียงพอ
สถานีชาร์จครบ 1,000 แห่งปีนี้
ภาพ : กฟน.
ด้านนายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทพลังงานมหานคร จำกัด บริษัทให้บริการด้านสถานีชาร์จ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีความกังวลมากที่สุดคือ สถานีสถานีชาร์จ ซึ่งบริษัทได้ศึกษาแล้วว่าจุดใดที่เหมาะสม และตั้งเป้าจะติดตั้งให้ได้ 1,000 สถานีชาร์จภายในปีนี้
สำหรับรูปแบบในการติดตั้งสถานีชาร์จนี้ เริ่มจากที่พักอาศัยก่อน ซึ่งเป็นจุดแรกที่คนใช้งานสะดวกที่สุด และเชื่อมโยงไปที่ตัวออฟฟิศ หรือสำนักงานรวมไปถึงห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมไปโรงแรม ร้านอาหาร ช้อปปิ้งมอลล์ ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ และคอมมูนิตี้มอลล์ตามที่วางแผนไว้ ถือว่าสิ่งที่เราไปติดตั้งไว้ครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกจุดในประเทศไทย
ตามแผนที่บริษัทวางไว้ทุกระยะ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีสถานีชาร์จ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คนใช้รถคลายกังวลในเรื่องไม่มีสถานีชาร์จ โดยในปัจจุบันบริษัท ติดตั้งไปแล้วกว่า 400 สถานี แต่ส่วนที่เปิดบริการแล้วประมาณ 200 สถานี ซึ่งผู้ใช้งานสามารถโหลดแอปพลิเคชั่นพื่อค้นหาสถานีชาร์จบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยนำทางไปยังสถานีที่เปิดใช้บริการได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง