วันนี้ (16 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนา "อนาคตถ้ำหลวง" ขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในการวางอนาคตถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เป็นประเด็นสำคัญในเวทีครั้งนี้
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาถ้ำหลวงและขุนน้ำนางนอน จะได้รับการฟื้นฟูเบื้องต้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว แต่หากจะให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืนต้องดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ
ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการวางแนวทางร่วมกับสถาบันการศึกษา 5 แห่ง เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำโดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว
ขณะที่ นิอร สิริมงคลเลิศกุล นักวิชาการด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ระบุว่า ภารกิจกู้ภัยถ้ำหลวง เป็นการประสานองค์ความรู้ จากหลายฝ่ายที่ร่วมให้ความช่วยเหลือ ทั้งความรู้ด้านฟิสิกส์ ธรณีวิทยา การจัดการน้ำ และองค์ความรู้ด้านการกู้ภัย หากสามารถรวบรวมสิ่งเหล่านี้ เปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต ก็จะเป็นการส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่ผู้ที่สนใจ นอกเหนือจากการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์การช่วยเหลือครั้งสำคัญของโลก
ขณะที่ พล.ท.สายัณห์ เมืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก มองว่าปฏิบัติการถ้ำหลวง สะท้อนถึงความสำคัญ ในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือปัญหาภัยพิบัติ ที่ไทยต้องเจอมากขึ้น ถือเป็นอีกแนวทางพัฒนาต่อยอด จากปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการฟื้นฟูถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ปัจจุบันได้มีการเปิดให้เที่ยวชมบริเวณขุนน้ำนางนอน และบริเวณโดยรอบถ้ำหลวง ขณะที่ภายในถ้ำหลวงยังคงปิดเพื่อสำรวจด้านธรณีวิทยา และฟื้นฟูภายในถ้ำซึ่งแต่ละฝ่ายที่ร่วมเวทีในวันนี้ เห็นสอดคล้องกันว่า ทิศทางการพัฒนาจะไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความสวยงาม แต่ทำอย่างไรเพื่อให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเรียนรู้ถึงพลังความร่วมมือของคนทั้งโลกโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ ควบคู่กับการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด