วันนี้ (24 ธ.ค.2561) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีที่เว็บไซต์ www. Gmmwork.com เผยแพร่ข่าวพบหญิงสาวเสียชีวิตริมหาดภูเก็ต โดยศพนอนทับหอยตาวัว แผ่นหลังเป็นรอยเขียวช้ำสภาพคล้ายถูกงูกัด ซึ่งในข่าวได้อ้างถึงเจ้าหน้าที่กรมประมงว่าได้มีการให้ข่าวว่าหอยตาวัวเป็นหอยมีพิษ กรมประมงขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยในส่วนของกรมประมงไม่มีเจ้าที่ท่านใดให้ข่าวกับทางเว็บไซต์ดังกล่าว และยืนยันว่าภาพหอยตาวัวที่ทางเว็บไซต์ นำไปเผยแพร่เป็นหอยไม่มีพิษสามารถรับประทานได้
ในส่วนกรณีพบหญิงสาวเสียชีวิตริมหาด ทางกรมประมงได้มีการสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ศูนย์กู้ชีพนเรนทร มูลนิธิกุศลธรรม ยังไม่พบรายงานว่าวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้หญิงเสียชีวิตริมหาดตามที่ข่าวกล่าวอ้างถึงแต่อย่างใด
ภูเก็ตจัดเป็นเมืองท่องเที่ยว ทางจังหวัดมีไลฟ์การ์ด เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนริมหาด ถ้าพบมีการเสียชีวิตบริเวณหาดจริงหน่วยงานต้องรู้
ภาพ:กรมประมง
ยืนยันหอยตาวัวไร้พิษ-กินได้ปลอดภัย
นายอดิศร กล่าวว่า นอกจากจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าภาพหอยที่นำมาประกอบข่าวในเว็บ gmmwork คาดว่าเป็นการนำภาพหอยที่พบในพื้นที่ อ.ละแม จ.ชุมพร ภาพหอยดังกล่าวมีชื่อสามัญเรียกว่า หอยวงเดือน หอยตาวัว (Neverita didyma) เป็นหอยในวงศ์หอยตะกาย Naticidae พบได้ทั่วไปในทะเลทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย
โดยอาศัยฝังตัวในพื้นทะเลในเขตน้ำขึ้นลงบริเวณหาดทรายหรือทรายปนโคลน มีพฤติกรรมการกินโดยการเจาะเนื้อหอยสองฝาเป็นอาหารและไม่มีพิษกับสัตว์อื่นๆ หรือคน เป็นหอยฝาเดียวที่มีรูปร่างค่อนไปทางกลม เปลือกค่อนข้างหนา มีเนื้อมาก ปัจจุบันนิยมกินกันในตลาดอาหารทะเลที่ภูเก็ต
ส่วนหอยตาวัว ซึ่งเป็นที่รู้จักทางอนุกรมวิธานโดยทั่วไปจะหมายถึงหอยในวงศ์ Turbinidae เป็นหอยฝาเดียวที่กินสาหร่ายเป็นอาหาร และไม่มีพิษเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ชื่อสามัญของหอยอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
เตรียมฟ้อง ชี้ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงขอยืนยันว่าข่าวที่ www.Gmmwork.com เผยแพร่ว่าหอยตา วัวฆ่าคนตายไม่เป็นความจริง อีกทั้งเจ้าหน้าที่กรมประมงไม่มีส่วนรู้เห็น หรือให้ข่าวดังกล่าวนี้ พร้อมได้เตรียมดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายกับเว็บไซต์ รวมทั้งบุคคลหรือสำนักข่าวใด ๆ ที่มีการนำข้อมูลไปเผยแพร่หรือแชร์ต่อ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมประมงและส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด
พร้อมเตือนพี่น้องประชาชชน ปัจจุบันโลกโซเชียลแชร์ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลที่ถูกต้องและมีข้อมูลเท็จที่ถูกส่งต่อในหลายประเด็น ดังนั้นการที่จะแชร์หรือส่งข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทางโซเชียลให้ท่านพิจารณาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลับมาแล้ว “หอยตาวัว” หลังหายจากทะเลอ่าวไทยนาน 20 ปี