ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัตว์ป่าเสี่ยงถูกล่า เหตุมีความต้องการจากต่างชาติ

สิ่งแวดล้อม
30 ธ.ค. 61
11:57
566
Logo Thai PBS
สัตว์ป่าเสี่ยงถูกล่า เหตุมีความต้องการจากต่างชาติ
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ สถานการณ์ล่าสัตว์ป่ายังน่าห่วง พบมีออเดอร์จากต่างประเทศ และมีพรานต่างชาติเข้ามาล่า ส่วนพรานท้องถิ่นมักล่าเพื่อบริโภคหรือนำ “คนเมือง” เข้าไปล่า

การล่าสัตว์ป่าปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้งช่วงปี 2561 ทั้งเสือ หมี เลียงผา และปลาคังยักษ์ ยังมีอีกไม่น้อยที่การล่าสัตว์ป่าไม่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางสังคม เว้นเสียแต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งทางสังคม

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิเคราะห์สถานการณ์การล่าสัตว์ป่า ทว่าพบข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า ซึ่งส่งผลต่อการล่าสัตว์ป่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

พรานนักล่า

นายภานุเดช กล่าวว่า สัตว์ป่าในป่าผืนใหญ่เสี่ยงถูกล่าสูง เพราะยังมีความต้องการของตลาด โดยคนล่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือพรานมืออาชีพ คือมีอาชีพล่าสัตว์เพื่อธุรกิจ การล่าใช้อาวุธอานุภาพสูงและมีออเดอร์สั่งมาชัดเจน จากนั้นเข้าไปล่าในพื้นที่เป้าหมาย

ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย 1. คนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นพรานเก่าแก่มีประสบการณ์ รู้ว่าสัตว์ป่าอยู่ที่ไหน  2.พรานต่างประเทศ ซึ่งอดีตอาศัยพรานในพื้นที่พาเข้าไปล่าโดยจ่ายค่าตอบแทน ส่วนซากสัตว์นำออกนอกประเทศ ขณะที่ระยะหลังพรานต่างชาติเริ่มเข้ามาล่าเอง ส่วนพรานในพื้นที่อาจอำนวยความสะดวกเรื่องเสบียงและที่พัก เพราะจะต้องอยู่ยาวและมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนระหว่างคนล่า คนส่งเสบียง คนนำออก

ทั้งนี้ข้อมูลชี้ว่าประเทศปลายทางของการส่งออกมี 3 จุด คือ 1.การค้าสัตว์ป่าในประเทศ มีความต้องการไม่มาก 2.อเมริกา และ 3. จีน ซึ่งมีความต้องการสูง ทุกคนรู้ปัญหาและพยายามแก้ไข

อันนี้น่าห่วง เพราะเป็นการล่าสัตว์ใหญ่ อาวุธรุนแรง เวลาปะทะเจ้าหน้าที่มีผลกระทบ มีทั้งฝั่งพรานและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ครั้งแรกที่พบว่ามีต่างชาติเข้ามา คือการเบื่อเสือโคร่งในพื้นที่ห้วยขาแข้ง แล้วมีความพยายามเอาซากออกไปทาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เหตุการณ์นั้นมีการปะทะกัน มีเจ้าหน้าที่และพรานเสียชีวิต จากนั้นการล่าหายไป 3-4 ปี กระทั่งปลายปี 2560 มีรายงานพบกลุ่มพรานเข้ามาล่า ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะหลักฐานในพื้นที่ เช่น บุหรี่และอุปกรณ์ประกอบอาหาร ฯลฯ ประเมินได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้การจับกุมพรานเป็นเรื่องยาก เพราะมีคนในพื้นที่พาไปและรู้ทางหลบหนี 

3-4 ปีลดลง เพราะมีการปะทะเจ้าหน้าที่เลิกไปพักหนึ่ง พรานชุดเดิมๆ เขาทำงานเป็นทีม พอเวลาเกิดเรื่องก็จะเซ็ตทีมใหม่เข้ามา

กลุ่มที่ 2 คือพรานท้องถิ่นหรือชาวบ้าน เมื่อมีเวลาว่างแล้วเข้าไปล่าสัตว์ เข้าไปทั้งป่าเล็กและป่าใหญ่ ส่วนใหญ่ล่าเพื่อบริโภคและมีขายบ้าง โดยภาพรวมเป็นการล่าเพื่อยังชีพ ดังนั้นสรุปว่าอัตราส่วนการล่าสัตว์ยังตึงอยู่ และหากมองเฉพาะพรานท้องถิ่น นอกจากล่าเพื่อบริโภค อาจพา “คนเมือง” ที่นิยมล่าสัตว์เข้าไปในป่า อย่างไรก็ตามคาดว่าพรานท้องถิ่นจะลดลง เพราะลูกหลานใช้ชีวิตห่างจากป่าและขาดทักษะเหล่านี้

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

 

คนสนใจปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากขึ้น เป็น “ชัยชนะ” หรือไม่ ? เลขามูลนิธิสืบฯ ตอบว่า สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สังเกตจากการจัดกิจกรรมหรือมีข่าวพวกนี้จะมีแรงสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะอยากให้คนไทยมีหัวใจอนุรักษ์อยู่แล้ว

สาเหตุมามาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ จึงมีข้อมูลเรื่องการล่าชัดเจนขึ้น เมื่อสังคมสนใจและเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือดีขึ้น สองสิ่งนี้จึงทำให้สัมคมสนใจเรื่องนี้มากขึ้นจนเป็นปรากฏการณ์

สำคัญคือการมีส่วนร่วมให้คนช่วย การใช้กฎหมายอย่างเดียวดูแลป่า เป็นเรื่องล้าสมัย

ชีวิตสัมพันธ์ คน-ต้นไม้-สัตว์ป่า

เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ อธิบายความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าลดลง ส่งผลต่อแหล่งอาหารและชีวิตสัตว์ป่า ซึ่งนายภานุเดช วิเคราะห์ว่า สัตว์ป่ามีปัจจัยการดำรงชีวิต 3 ปัจจัย คือ 1.แหล่งอาหาร 2.ความปลอดภัยจากปัจจัยภายนอก และ 3. ความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น ช้าง กระทิง วิวแดง ต้องการพื้นที่กว้างเพื่อหาอาหารและขยายพันธุ์

“วิกฤต” มากจากการพัฒนา กิจกรรมของรัฐ และประชาชน ที่ทำให้ “ป่า” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกแบ่งเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ไม่เป็นผืนเชื่อมต่อกัน จนทำให้ “สัตว์ป่าติดเกาะ” ขณะที่ป่าผืนใหญ่เหลือไม่กี่แห่ง เช่น ดงพญาเย็น ทับลาน ปางสีดา แก่งกระจาน ฯลฯ 

สิ่งที่ตามมาจากปัญหา “สัตว์ป่าติดเกาะ” คือ 1.คนเข้าไปล่าได้ทุกทางไม่ต้องเดินหา 2.สัตว์ป่าขาดแหล่งอาหาร ความปลอดภัย และพื้นที่เหมาะสม ส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ เพราะต้นไม้น้อย จึงขาดอาหารโดยปริยาย ซึ่งระยะหลังเกาะเหล่านี้แทบไม่พบสัตว์ป่าแล้ว

ส่วนความพยายามของคน ทั้งการฟื้นฟู การสร้างโป่ง-แหล่งน้ำ ไม่ช่วยแก้ปัญหามากนัก และยิ่งเป็นการก่อปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น การสร้างแหล่งน้ำ-โป่ง ใกล้ถนน เมื่อสัตว์ป่าข้ามไปจะเป็นอันตราย ที่สำคัญโครงการพัฒนาต่างๆ มักเป็นพื้นที่ที่มีคนเข้าไปทำกิจกรรมและตัดถนน กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน เช่น สัตว์ถูกรถชน สัตว์มีพฤติกรรมเปลี่ยน แย่งอาหารคน ซึ่งกลายเป็นอคติเชิงลบ เช่น กรณีช้างออกมาหาอาหาร ขณะที่คนพยายามทำรั้วลวดหนามและรั้วไฟฟ้า รวมถึงการใช้ระเบิดปิงปองและปืนเพื่อป้องกันสัตว์ป่าเหล่านี้

บางที่ทำโป่ง-แหล่งน้ำ หวังดึงการท่องเที่ยว ช้างออกมากินและเริ่มขยับออกไปข้างนอก คนค่อยๆ รู้สึกว่าเป็นปัญหา มีหลายที่นับวันจะรุนแรง

ดังนั้น การแก้ปัญหาคือการสร้างสมดุลตรงกลาง โดยเฉพาะการกันพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัยและระมัดระวังการพัฒนาที่เข้าไปในพื้นที่

การแก้ปัญหาไม่อาจฝากความหวังไว้เฉพาะเจ้าหน้าที่ แต่ควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทีจะช่วยกันเฝ้าระวังเพื่อป้องกันสัตว์ป่าและรักษาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอยคดีดัง ปี'61 จากเสือดำ สู่คดีหมีขอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง