หลังมีกระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้ง จากเดิมวันที่ 24 ก.พ. 2562 ออกไปอีก 1 เดือน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันจาก กกต. ส่วนความเห็นจากรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังยึดตามโรดแมปเลือกตั้งเดิม แต่หากมีปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจริง กกต.ต้องให้เหตุผลและอธิบายกับประชาชนให้เข้าใจ เพราะรัฐบาลไม่มีเหตุผลใดที่ต้องเลื่อน
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า หากจะเลื่อนเลือกตั้ง อาจจะมีเหตุด้วยขั้นตอนทางธุรการที่เกี่ยวกับการทำงานของ กกต. และเป็นการขยับวันเลือกตั้งออกไปเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ขั้นตอนเสร็จสมบูรณ์ เช่น กรณีการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการกำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคในแต่ละเขตไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีบุคคลใดเสนอให้แก้กฎหมาย เพราะต้องใช้เวลามากและอาจกระทบโรดแมปเลือกตั้ง
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เรียกร้องขอความชัดเจนจาก กกต. หลังมีกระแสข่าวเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 1 เดือน เหตุเพราะการพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทันเวลากำหนด ที่ไม่สามาสารถนำมาเป็นข้อกล่าวอ้างได้ แต่หากจะมีการเลื่อนเลือกตั้งจริงคงมีเหตุผลเดียวคือการสร้างความได้เปรียบของพรรคฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เรียกร้องให้ กกต. จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกแล้ว และไม่ควรนำประเด็นการพิมพ์บัตรเลือกตั้งมาเป็นข้ออ้าง เพราะถือเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะดำเนินการให้ทันเวลา
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากเลื่อนเลือกตั้ง และการอ้างว่าพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทันนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้าไปมาก นอกจากนี้ไม่เชื่อว่าการใส่ชื่อพรรคและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งจะทำให้การพิมพ์ใช้เวลามากกว่าการพิมพ์เฉพาะ “หมายเลข” อย่างเดียว อย่างไรก็ตามหลายประเทศใช้เวลาพิพม์บัตรเลือกตั้งภายใน 2-3 สัปดาห์หลังประกาศวันเลือกตั้งเท่านั้น
เลื่อนวันเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผล จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ
จึงขอฝากให้ กกต. รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน รอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมาภายหลัง