วันนี้ (2 ม.ค.2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุปาบึกว่า พายุดังกล่าวกำลังจะเข้าพื้นที่ภาคใต้ ในวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ ได้มีการเตรียมการรองรับน้ำท่วม พร้อมกันนี้ได้สั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้บูรณาการทำงาน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่า
พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนไปยังทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งกลุ่มประมง การท่องเที่ยว และการเดินเรือทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งได้มีการประสานไปยังภาคเอกชนแล้ว และฝากให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการด้วย
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุโซนร้อนปาบึกบริเวณทะเล จีนใต้ตอนล่างที่จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยวันพรุ่งนี้ (3 ม.ค.) จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 3-4 ม.ค.นี้ มีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน โดยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดสตอร์ม เซิร์จ (Storm surge) หรือคลื่นพายุซัดฝัง จากพายุโซนร้อนลูกนี้ขึ้นในช่วงวันที่ 4 ม.ค.นี้ เป็นช่วงที่พายุจะเคลื่อนขึ้นบริเวณแถว จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร
ลักษณะของสตอร์ม เซิร์จ จะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะตอนบนของพายุบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ไล่จนมาถึงสุราษฎร์ธานี ตรงนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะจะมีคลื่นพายุซัดที่พัดเข้าหาฝั่งจะมีความแรงมากสูง
ดังนั้นประชาชนที่มีบ้านเรือนริมทะเล ถ้าเป็นไปได้ควรขยับไปอยู่ตรงจุดอื่นเพื่อป้องกันผลกระทบจากคลื่นพายุซัดฝั่ง รวมทั้งเรือประมง เรือท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดของประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีเพราะอาจเกิดคลื่นสูง 3-5 เมตร
เตือน 3 จังหวัดเสี่ยงสตอร์ม เซิร์จ
นายภูเวียง ระบุว่า ถ้าดูจากความเร็วลมของพายุปาบึก อยู่ที่ประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยอาจจะไม่รุนแรงถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยคาดการณ์ว่าพายุโซนร้อนลูกนี้มีกำลังแรงเทียบเท่ากับพายุโซนร้อนแฮเรียต ปี 2505 ระยะเวลาห่างกัน 57 ปี
และพายุโซนร้อนลินดาในปี 2547 ระยะเวลาห่างกัน 25 ปี และจะไม่พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคยพัดถล่มชายฝั่งชุมพรเมื่อปี 2532 ที่มีกำลังความเร็วลมตั้งแต่ 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะชายฝั่งเป็นตัวลดแรงเสียดทานของพายุทำให้อ่อนกำลังลง แต่มีโอกาสเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ สตอร์มเซิร์จได้บริเวณชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะอ.บางสะพาน และ อ.ละแม อ.หลังสวน จ.ชุมพร จากนั้นวันที่ 6-7 ม.ค.นี้ พายุจะเคลื่อนออกจากประเทศไทยแล้วเข้าสู่บังกลาเทศ
สำหรับ “สตอร์ม เซิร์จ” คือปรากฏการณ์ของคลื่นในทะเลที่ยกตัวสูงขึ้น จากการพัดของพายุเขตร้อนที่มีความเร็วลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสาเหตุของการเกิดพายุนั้น เนื่องจากความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณดังกล่าว ยิ่งความกดอากาศมากเท่าไหร่ ก็จะทําให้การยกตัวสูงของ
น้ำทะเลมากขึ้นเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ปกติ ! พายุปาบึกเข้าใต้เดือนม.ค.นี้ห่วงแรงเท่า "แฮเรียต"
อพยพ จนท.แท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทยขึ้นฝั่งหนีพายุปาบึก
สทนช.สั่งพร่องน้ำ 2 เขื่อนภาคใต้รับมือพายุปาบึก