วันนี้ (5 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์พายุปาบึกเริ่มคลี่คลาย แต่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความห่วงใย จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี ว่า ขอให้ประชาชน อย่าประมาท และควรระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จนกว่าทางการจะประกาศชัดเจนว่าปลอดภัย และเพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย พักอาศัยในศูนย์อพยพชั่วคราว จนกว่าจะมีประกาศจากทางราชการ
นายกรัฐมนตรียังกล่าวเตือนที่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด กับผู้ที่ปล่อยข่าวบิดเบือน โดยเฉพาะข่าวการวกกลับมาของพายุปาบึก เพราะถือเป็นการสร้างความวุ่นวายตื่นตระหนกให้เกิดขึ้น
ธนาคารออกมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย
ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน และฟื้นฟูผู้ประสบภัย 6 มาตรการ เตรียมวงเงินสินเชื่อ อีก 1 พันล้านบาท และจะยกเว้นคิดดอกเบี้ย นาน 4 เดือนแรก และหากจำเป็นต้องกู้เพิ่ม หรือ กู้ใหม่ เพื่อซ่อมแซมบ้าน จะคิดดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 นาน 3 ปี
นอกจากนั้น ธอส. เปิดให้ขอประนอมหนี้ได้ ตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน พร้อมกับยกเว้นดอกเบี้ย นาน 4 เดือน กรณีได้รับผลกระทบรายได้ และความสามารถการชำระ แต่หากเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพถาวร สามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยได้ ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และกรณีที่ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ จะให้ปลอดหนี้
ทางด้านธนาคารออมสินจะพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้พักชำระเงินต้นและผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย ได้อีก 2-3 ปี
เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อมอบเงินสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ ซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น เครื่องจักรการเกษตร รวมทั้ง พิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้เกษตรกร และผู้ประสบภัย
ในด้านการฟื้นฟูธุรกิจ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารเอสเอ็มอี จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สัญญากู้ยืมแบบมีระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน และพักชำระดอกเบี้ย สำหรับสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่เกิน 6 เดือน
พร้อมเตรียมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา โดยกำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อราย ตั้งแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท
ขณะที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จะขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันออกไปได้อีก 6 เดือน พร้อมจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้