"เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ" คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2562 ที่มาจากความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือนายกฯ ตู่ดิจิทัล
เมื่อย้อนไป 63 ปีที่แล้ว แนวคิดการจัดกิจกรรมและคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2499 ยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อนำประเทศเข้าสู่ความเป็นสากล ตามกระแสทั่วโลกที่เริ่มจัดกิจกรรมในปี 2498
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ "คำขวัญวันเด็ก" สะท้อนความคิดและอุดมการณ์ของผู้นำประเทศแต่ละยุค รวมถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า คำขวัญตั้งแต่ปี 2499-ปัจจุบัน ล้วนเป็น "คำสั่ง" หรือสิ่งที่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นยุคประชาธิปไตย หรือยุคเผด็จการ อยากจะเห็นจาก "พลเมือง" แต่ไม่เคยให้เด็กสร้างสรรค์ว่า เขาอยากทำอะไร เช่น การนำรถถังออกมาให้เด็กถ่ายรูป เปิดห้องทำงานรัฐมนตรี ให้เด็กนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
วันเด็กไม่ใช่วันเด็กจริง ๆ แต่คือวันผู้ใหญ่ที่อยากเห็นเด็กเป็นอะไร การจัดงานวันเด็กกลายเป็นการหล่อหลอมอุดมการณ์ของรัฐไปสู่เด็ก
คำขวัญวันเด็ก ฉายภาพแต่ละยุคของ "ไทย"
คำขวัญวันเด็ก ฉายภาพบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาบ้านเมืองแต่ละยุคสมัย เช่น ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2502-2506 "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า" คำขวัญจะเป็นไปตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการ ทั้งรักความก้าวหน้า รักความสะอาด อยู่ในระเบียบวินัย ประหยัด และขยันหมั่นเพียร, ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2524 "เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม" หลังเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปี 2523
อุดมการณ์นายกฯ ส่งผ่าน "คำขวัญ"
นายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นทหารสูง อยู่ในช่วงการปกครองแบบเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิบไตย ลักษณะคำขวัญจะเป็น "คำสั่ง" เช่น จอมพล ป. "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนร่วม" และจอมพลสฤษดิ์ "เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า"
นายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม หรือนิยมความเป็นไทย เน้นเรื่องอุดมการณ์ความจงรักภักดี เช่น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2518 "เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี" ยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2519 "เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้" และนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2535 "สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม"
นายกรัฐมนตรีพลเรือน อดีตข้าราชการ หรือนักการเมืองอาชีพ ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วย เช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520 "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย" นายบรรหาร ศิลปอาชา ปี 2539 "มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด"
นายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และเคยเป็นนักธุรกิจ ซึ่งพยายามนำไทยสู่สังคมสมัยใหม่ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร ปี 2545 "เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส" และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2555 "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"
ย้อน 20 ปี "คำขวัญวันเด็ก" เน้นสมานฉันท์-ก้าวข้ามความขัดแย้ง
- นายชวน หลีกภัย กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความไม่มีธรรมมาภิบาลของภาครัฐ และภาคธุรกิจในไทย นำไปสู่คำขวัญปี 2541 "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย"
- นายทักษิณ ชินวัตร จากนักธุรกิจสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2545 ขณะนั้นบริบททางการเมืองมีความเป็นประชาธิบไตยมากขึ้น แนวคิดของผู้คนในสังคม หรืออุดมการณ์ความคิดของนายกรัฐมนตรี มีความเป็น "เสรีนิยม" และเชื่อมโยงยุคโลกาภิวัฒน์ สะท้อนผ่านคำขวัญ ปี 2546 "เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี"
- พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมให้คำขวัญปี 2550 "มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข" หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองปี 2548-2549 ยุคที่เกิดคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่ง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ทำรัฐประหารปี 2549
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุคของนายกรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่ เน้นสร้างความสามัคคี มีคุณธรรม ในช่วงที่มีความแตกแยกทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยให้คำขวัญปี 2552 "ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี"
- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทางเดินคล้ายกับนายทักษิณผู้เป็นพี่ชาย จากนักธุรกิจก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย คำขวัญที่มอบให้เป็นภาพสู่อนาคตและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ปี 2555 "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" และปี 2556 ที่ไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ปี 2557 เป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและการแบ่งฝ่าย คำขวัญที่มอบให้จึงเน้นก้าวข้ามปัญหา นำสังคมไทยสู่ยุคอนาคต เช่น ปี 2559 "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต" และปี 2561 "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี"
ทั้งนี้ ภาพรวมของคำขวัญวันเด็กนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคำขวัญวันเด็ก 3 ประการ คือ 1.บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในยุคสมัยนั้น จะส่งผลต่อการกำหนดเนื้อหาของคำขวัญ 2.อุดมการณ์ ความคิดทางการเมืองและสังคมของนายกรัฐมนตรีในยุคสมัยนั้น จะมีผลต่อการสอดแทรกอุดมการณ์ความคิด เช่น นายกรัฐมนตรีที่มีอุดมการณ์ความคิดอนุรักษ์นิยม คำขวัญจะมีความเป็นชาตินิยมสูง นายกรัฐมนตรีที่มีอุดมการณ์ความคิดเสรีนิยม คำขวัญจะเน้นความเป็นสมัยใหม่ เทคโนโลยี และเชื่อมโยงกับโลก 3.อุดมการณ์ความคิดของรัฐและสังคมที่ต้องการปลูกฝัง หรือต้องการเห็นเด็กและเยาวชนตามแบบแผนของยุคสมัยนั้น จะส่งผลต่อคำขวัญในลักษณะของการสร้างพลเมืองตามแบบที่รัฐและสังคมในยุคสมัยนั้นเป็น