อุบัติเหตุจากลูกโป่งระเบิดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างกรณีเหตุการณ์ระหว่างการช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากลูกโป่งระเบิด จนมีแผลพุพองจากการถูกไฟไหม้บริเวณหน้าท้องและต้นขาด้านขวา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกโป่งเกิดระเบิดขึ้น เป็นเพราะเด็กที่บาดเจ็บได้นำลูกโป่งเข้าไปภายในวิหารของวัด ซึ่งคาดว่าอาจถูกกับเปลวเทียน หรือประกายไฟ จนเกิดการระเบิดขึ้นและมีไฟลุกไหม้จนได้รับบาดเจ็บ
ส่วนอีหหนึ่งเหตุการณ์คือลูกโป่งระเบิดในรถ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรคมีคำเตือนให้ระมัดระวังลูกโป่งอัดแก๊ส เพราะเพิ่งเกิดเหตุลูกโป่งระเบิดในรถยนต์ขณะดึงสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ
เบื้องต้นระบุข้อมูลว่า แก๊สที่บรรจุเข้าไปในลูกโป่งมี 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจนและฮีเลียม สำหรับไฮโดรเจน มีความไวไฟสูง ติดไฟง่าย เมื่อกระทบกับความร้อนหรือประกายไฟ ทำให้เกิดการระเบิดได้ ส่วนฮีเลียม เป็นแก๊สเฉื่อย ไม่ติดไฟ
สำหรับปัจจุบัน แม้ในประเทศไทยจะไม่มีข้อห้ามในการจำหน่ายลูกโป่งบรรจุแก๊ส แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศให้ลูกโป่งบรรจุแก๊สไฮโดรเจน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ผู้จำหน่ายต้องติดคำเตือน ห้ามนำเข้าใกล้เปลวไฟหรือความร้อน
ทั้งนี้ เหตุระเบิดหรือเพลิงลุกไหม้จากลูกโป่งบรรจุแก๊สเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากอุบัติภัยที่เกิดกับเด็กจากลูกโป่งระเบิดหรือไฟไหม้แล้ว ยังมีคำเตือนอีกว่าการให้เด็กเป่าลูกโป่งเอง ซึ่งในขณะเป่า จังหวะที่เด็กสูดลมหายใจเพื่อเป่าลูกโป่ง อาจทำให้ลูกโป่งถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลม จนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบเล่นลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้