ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมอุทยานฯ เตรียมเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ตกค้างในถ้ำหลวง

สิ่งแวดล้อม
16 ม.ค. 62
10:33
923
Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ เตรียมเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ตกค้างในถ้ำหลวง
กรมอุทยานฯ หน่วยซีล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมเข้าด้านในตัวถ้ำหลวง เพื่อสำรวจอุปกรณ์ตกค้าง หลังปิดถ้ำช่วงจบเหตุกู้ภัย 13 หมูป่าอะคาเดมี มานานกว่า 6 เดือน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังทะลักแห่เที่ยวถ้ำหลวงมากเป็นอันดับ 1 ในช่วงปีใหม่ กว่า 25,000 คน

วันนี้ (16 ม.ค.2562) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี จะเดินทางไปที่วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เพื่อสำรวจด้านในตัวถ้ำหลวง เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ที่ตกค้างภายในตัวถ้ำหลวง หลังจากนั้น ถ้าน้ำแห้งเมื่อไร ทางทีมสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีเตรียมเข้าสำรวจแผนงานภายในถ้ำเพื่อดูโครงสร้างถ้ำอย่างละเอียดว่ามันมาจากตรงไหน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต แต่หากเกิดเหตุคล้ายกัน จะได้มีชุดฐานข้อมูลที่ไว้สำหรับเป็นพื้นฐานเพื่อเดินหน้าปฏิบัติการได้ ซึ่งการสำรวจแม้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ แต่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ต้องดูว่าน้ำเข้าถ้ำมาจากส่วนใดบ้าง การสำรวจภายในทั้งหมด อยากได้ผังของถ้ำจริงๆ ทุกซอกทุกมุม ความสำคัญของหินงอกหินย้อย

 

นายจงคล้าย วรพงศธร

นายจงคล้าย วรพงศธร

นายจงคล้าย วรพงศธร

 

 

นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวถ้ำหลวงในวันปีใหม่กว่า 25,000 คน

สำหรับการปรับพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางอุทยานต้องปรับสภาพพื้นที่ใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงเมื่อเดือนมิถุนายน และเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่ามีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 1,000 คน และช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่น วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากเป็นอันดับ 1 ของสถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ ตามที่กรมอุทยานฯ รวบรวมข้อมูล มีจำนวนนักท่องเที่ยววันเดียวกว่า 25,000 คน

 

 

 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อจำกัดที่กรมอุทยานฯ มีพื้นที่จำกัด เพราะพื้นที่ถ้ำหลวงมีประมาณ 10 กว่าไร่เท่านั้น และขุนน้ำนางนอนที่เป็นแหล่งน้ำสีมรกต ทำให้กรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำรถเข้าไปจอดบริเวณด้านหน้าตัวถ้ำหลวง และโซนขุนน้ำนางนอน แต่ได้กำหนดจุดจอดรถ และจุดรับส่งไว้ด้านหน้าทางเข้าตัวถ้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องเดินเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ปรับพื้นที่และห้องน้ำ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยแผนงานระยะสั้น ดำเนินการหลายเรื่องแล้ว เช่น การปรับปรุงระบบนิเวศที่เคยเกิดความเสียหายจากการขุดเจาะในช่วงปฏิบัติภารกิจระบายน้ำออกจากถ้ำ, การรื้อถอนอุปกรณ์และท่อระบายน้ำที่เคยสร้างไว้เพื่อเบี่ยงทางน้ำ, การสร้างห้องน้ำเพิ่ม, ปรับภูมิทัศน์

 

ผลักดัน "ถ้ำทรายทอง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

ส่วนแผนงานต่อไปคือการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ คือ "ถ้ำทรายทอง" ที่อยู่ภายในพื้นที่ขุนน้ำนางนอนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ประเด็นที่ต้องอาศัยความมือจากชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น คือการบริหารจัดการพื้นที่รอบนอกที่เชื่อมต่อกับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และทางกรมอุทยานฯ ไม่ได้รับผิดชอบ เช่น ปัญหาจุดจอดรถ, ร้านค้าหน้าทางเข้าถ้ำหลวงที่มีกว่า 100 ร้าน, ปัญหาการจัดการขยะ และห้องน้ำบริเวณภายนอกที่จะรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งถ้ำหลวงมีพื้นที่ 10 กว่าไร่เท่านั้น ซึ่งแผนงานบริหารจัดการของกรมอุทยานฯ จะเชื่อมโยงกับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย

 

 

 

การจัดการถามว่ายากไหม ก็ยากครับ แต่ค่อนข้างเดินหน้าได้เร็ว เพราะรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ สนับสนุน รวมถึงถ้าได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่จะยิ่งทำให้การพัฒนาเดินหน้าได้เร็วขึ้น แต่การรักษาให้สถานที่ถ้ำหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพราะที่ถ้ำหลวง นักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการแค่ไปเที่ยว แต่เขาต้องการไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านการกู้ภัยด้วย เรียนรู้การทำงานของจิตอาสา การทำงานของรัฐ ในช่วงปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งอื่น ซึ่งความร่วมมือของคนในพื้นที่จะเป็นเรื่องสำคัญ และอยากให้มองย้อนไปถึงช่วงเกิดเหตุ ที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกันด้วยจิตอาสาจริงๆ ไม่มีผลตอบแทนจริงๆ แนวทางของรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไร จะทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์และพัฒนาท้องที่ให้อยู่ได้แบบยั่งยืน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง