วานนี้ (18 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงข่าว "มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5" ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2
รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการพัฒนาค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งที่จะช่วยปกป้องสภาวะแวดล้อมเมืองที่เปลี่ยนไปได้มากที่สุด ก็คือ พืช โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
สำหรับพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองกำหนดไว้ที่ 1.5 ไร่ รองรับคน 10,000 คน แต่ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนเมืองลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นปัจจัยที่จะช่วยปกป้องประชาชนจากมลพิษก็ลดลงไปด้วย ดังนั้น มาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือ การสร้างพื้นที่สีเขียวในแนวตั้งหรือแนวดิ่งมากขึ้น โดยการปลูกพืชพรรณต่างๆ
จากงานวิจัยพบว่า พืชชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติในการบรรเทาและป้องกันฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะโครงสร้างของใบที่สามารถดูดซับฝุ่นได้ถึง 10 ไมครอน ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะหลังคาสีเขียว (Green Roof) ให้มากขึ้น ใครอยู่คอนโดก็สามารถปลูกต้นไม้ได้โดยเฉพาะไม้เลื้อยที่มีผิวใบที่มีขน
ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในต่างประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับพืชที่ใช้ในการดักจับฝุ่น อย่างในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา และยุโรปในหลายๆ ประเทศ โดยการศึกษาพบว่า ต้นไม้สามารถดับจับฝุ่นได้ร้อยละ 10-90 ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ซึ่งประเทศไทยที่มีพันธ์ุพืชมากกว่า 10,000 ชนิด แต่นำพืชเอามาใช้ประโยชน์น้อยมาก
ในส่วนของตะขบฝรั่ง ที่มีการยกขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้จริง เนื่องจากใบของตะขบฝรั่งมีความเหนียว เนื่องมาจากขนหรือยางที่อยู่บนใบ ช่วยดักจับฝุ่นละอองได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ แต่ในชุมชนเมืองก็ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ เช่น สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง พวงชมพู รวมถึงไม้ยืนต้นอย่าง โมกมันและชงโค ซึ่งนอกจากจะปลูกกันฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มออกซิเจนในอากาศด้วย
วิ่งกลางฝุ่น เสี่ยงถึงชีวิต
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภาและคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ช่วงที่อากาศย่ำแย่เช่นนี้ สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ การช่วยกันลดฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ได้มากที่สุด พร้อมขอให้โรงเรียนและองค์กรต่างๆ ช่วยประเมินช่วงเวลาในการเปิดงาน ช่วงเวลาการเริ่มเรียน หากสามารถเลื่อนเวลาได้ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กก็จะเจือจางลงกว่านี้
วันนี้ผลกระทบอาจจะไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานเรา ถ้าไม่แก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ อย่านิ่งนอนใจ เพราะระยะยาวปัญหาจะเรื้อรัง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำถึงกลุ่มคนรักสุขภาพ แนะควรหลีกเลี่ยงการวิ่งในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สุด โดยเฉพาะระหว่างวิ่งที่ต้องมีการหายใจลึกขึ้น ทำให้มีโอกาสสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปได้มากขึ้นอีก และไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยขณะวิ่ง เนื่องจากเป็นอันตราย โดยเฉพาะ N 95 ที่กันฝุ่นได้ดีที่สุด ซึ่งปิดกั้นอากาศเข้าไปมาก อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิจัยพบผู้ป่วยโรคปอดเพิ่มขึ้นในประเทศที่ฝุ่นคลุมเมือง
ขณะที่ ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้แทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า การศึกษาในประเทศที่เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศบางประเทศในยุโรป มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารักษาในห้องฉุกเฉินรวมถึงนอนโรงพยาบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ
นอกจากนี้ยังพบการเสียชีวิตจากโรคทางปอดและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ดที่เพิ่มมากขึ้น
กราฟผลการศึกษาเป็นเส้นตรง แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อฝุ่นเพิ่มขึ้น อัตราการป่วยก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอัตราการป่วยที่ไม่รวมอุบัติเหตุ เป็นการเจ็บป่วยเฉพาะด้านอายุรกรรมเท่านั้น แต่กลไกยังไม่ทราบแน่ชัด
สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้น นอกจากผงคาร์บอนและผงถ่านที่ละเอียด จริงๆ แล้ว ประกอบไปด้วยโลหะหนักบางชนิดและสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีการศึกษาพบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นระยะเวลานาน มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด
เด็กต่ำกว่า 5 ขวบ รับฝุ่นพิษเสี่ยงปอดบวม
สอดคล้องกับ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าหน่วยวิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ได้ระบุถึงการรับฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะยาว ว่าจะทำให้เกิดโรคมะเร็งและสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เด็กพัฒนาการช้า
ด้าน นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศไทย ขอให้ประชาชนประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่อยากให้กังวลจนเกินไป นอกเสียจากคนที่จะต้องอยู่บริเวณดังกล่าวเป็นปี
โดยพบข้อมูลว่า หากประชาชนอยู่ในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่คุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประมาณ 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี สีปอดจะเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ 1 ซองในระยะเวลา 30 ปี แต่ถ้าเป็นพื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบต่อร่างกาย ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง 1 ปี สีปอดก็จะเท่ากับสูบบุหรี่ครึ่งซองในระยะเวลา 30 ปี
ที่สำคัญคือ มีงานวิจัยในญี่ปุ่น พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เมื่อได้รับมลพิษเยอะทำให้เป็นโรคปอดบวมมากขึ้น ดังนั้นโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงควรประเมินให้เด็กอนุบาลและประถมต้น เลื่อนเวลาการเข้าเรียน อาจเป็นช่วง 10 โมง ส่วนการแจกหน้ากากควรแจกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้า คนขับรถรับจ้างประเภทต่างๆ มากกว่าสำหรับหน้ากากอนามัย มีรายงานว่า กทม.จะสั่งซื้อเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน จำนวน 3 แสนชิ้น
ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่สำรวจโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครในแผนกที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจ โดยพบว่าตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้ป่วยพร้อมญาติเดินทางมาเพื่อรับการรักษาจำนวนมากสำหรับแผนกอายุรกรรม ในเวลา 1 ชั่วโมงมีผู้มาเข้ารับการรักษา 78 คน และพบผู้สวมหน้ากากอนามัยประมาณ 20 คน โดยตลอด 1 ชั่วโมง มีผู้ป่วยที่มีอาการไอบ่อยครั้ง 2-3 คน และจามเป็นช่วงๆ 1 คน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังแผนกวินิจฉัยโรคปอดอีกด้วย
ส่วนแผนกหู คอ จมูกในโรงพยาบาลเดียวกัน พบว่ามีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา 43 คน ใน 1 ชั่วโมง และมีผู้สวมหน้ากากอนามัยจำนวน 7 คน นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งผู้ที่มารับการรักษา ญาติผู้ป่วย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ทั้งด้านในและด้านนอกอาคารของโรงพยาบาล แม้สถานการณ์ฝุ่นในวานนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยพื้นที่ริมถนน เกินค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. 1 พื้นที่ คือ บริเวณริมทางคู่ขนานถนนพระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร ส่วนพื้นที่ทั่วไป อยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานทุกพื้นที่