คพ.ชงบอร์ดมลพิษประกาศภัยพิบัติทางอากาศ-ปรับค่าฝุ่น PM2.5

สิ่งแวดล้อม
23 ม.ค. 62
13:11
1,657
Logo Thai PBS
คพ.ชงบอร์ดมลพิษประกาศภัยพิบัติทางอากาศ-ปรับค่าฝุ่น PM2.5
ค่าฝุ่น PM2.5 พื้นที่กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลงเหลือ 14 พื้นที่ สูงสุดเมื่อเวลา 07.00 น. 69 มคก.ต่อลบ.ม. ขณะที่ คพ. เตรียมเสนอบอร์ดมลพิษ พิจารณาปรับเกณฑ์ประกาศภัยพิบัติทางอากาศที่กำหนดไว้ 90 มคก.ต่อลบ.ม. ถึงจะใช้มาตรการเข้มข้น เหลือ 70 มคก.ต่อลบ.ม.

วันนี้ (23 ม.ค.2562) กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไมครอนตรวจพบค่าระหว่าง 37-69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยยังเกินมาตรฐานรวม 14 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ริมถนน 9 พื้นที่ และพื้นที่ทั่วไป 5 พื้นที่ ดังนีัิ 

  • ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 69 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร
  • ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน  56  ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร 
  • ริมถนนพระราม 3 เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ริมถนนลาดกระบัง 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ถ้าเทียบกับเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) พบว่าค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเคยอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่า 92-101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่ามาตรฐาน (50 มคก.ต่อลบ.ม.)

และจากการคาดการณ์ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) จากการพยากรณ์ และแบบจำลองของกรมอุตุนิยมวิทยา การลอยตัวของอากาศจะดีขึ้น ลมพัดแรงขึ้น อาจทำให้ฝุ่นละอองมีโอกาสเจือจางลงได้ แต่ทางกรมควบคุมมลพิษ ยังคงประสานงานกับกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัดดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ล้างถนนทุกวันทุกสาย ฉีดละอองน้ำในอากาศเพื่อเพิ่มความชื้น ตรวจจับรถควันดำเกินค่ามาตรฐาน การทำฝนเทียม และห้ามเผาในที่โล่ง

 

 

ชงเสนอปรับค่าเกณฑ์ฝุ่นพิษ 70 มคก.ต่อลบ.ม.

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า วันนี้จะมีการแถลงมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด รวมทั้งเตรียมนำข้อเสนอมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยวาระสำคัญที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ คือเรื่องเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าฝุ่น PM 2.5 จากที่กำหนดไว้ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน 3 วัน ถึงจะใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นประกาศภัยพิบัติมลพิษจากปัญหาฝุ่น โดยอาจะพิจารณาปรับเหลือ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นข้อเสนอของนักวิชาการและสิ่งที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อประกาศมาตรการฉุกเฉินจากฝุ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การปิดโรงเรียน งดกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น 

ขณะนี้มีข้อเสนอว่าเป็นตุ๊กตาว่าตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้วถึงจะมีมาตรการที่เข้มข้นออกมา แต่ตรงนี้ขึ้นกับว่าคณะกรรมการควบคุมมลพิษ จะให้ความเห็นอย่างไร

 

เทียบค่าภัยพิบัติจากฝุ่นพิษ รัฐต้องเตือนประชาชน

ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า สุขภาพของคนไทยต่ำกว่าฝรั่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ยุโรป อเมริกาเกือบทุกแห่ง จะกำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  เพื่อเตือนประชาชนให้ปฎิบัติตัวในการป้องกันมลพิษทางอากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายจัดการก่อนลุกลาม

1.ได้มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเป็นสีแดงและสีน้ำตาลโดยมีค่า AQIH ระดับ 7-9 หรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงระหว่าง 54-70 มคก.ต่อลบ.ม.แสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพกลุ่มเสี่ยง เช่น  เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ต้องลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งและระวังตัวเพราะอาจมีอาการแสบตา เจ็บคอ หรือไอเป็นต้นและยังกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องอยู่ภายในห้องเท่านั้น

2.มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายมากเป็นสีม่วง โดยมีค่า AQIH ตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไปหรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ตั้งแต่ 70 มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไปแสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อ กล่มเสี่ยง เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้งและไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง นักเรียนควรหยุดเรียน

 

 

3.ถ้าคุณภาพอากาศอยู่ในช่วงข้อ 1 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย24ชมระหว่าง 54-70 มคก.ต่อลบ.ม.) รัฐบาลจะต้องเริ่มมีมาตรการทางกฎหมายในการปกป้องสุขภาพประชาชนโดยจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และหากคุณภาพอากาศเลวร้ายถึงข้อ

แต่ถ้าอยู่ในระดับ 2 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ตั้งแต่ 70 มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไป) รัฐบาลจะประกาศเป็นเขตควบคุมภัยพิบัติที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต้องทำการเอ็กซเรย์  และจัดการลดมลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิดโดยเฉพาะค่า PM 2.5เพื่อทำให้ไปกลับสู่คุณภาพอากาศที่ดีโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ประเทศไทยต้องรอให้ฝุ่น 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.เกินค่า 90 มคก.ต่อลบ.ม.อย่างน้อย 3 วันก่อนจึงจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ถ้าหากยังเอาไม่อยู่ จึงจะใช้มาตรา 9 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ประกาศเป็นเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ หรือประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ขณะที่ทุกวันนี้หลายแห่งก็มีค่า PM 2.5 ระหว่าง70-85 มคก.ต่อลบ.ม.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โรงเรียนรุ่งอรุณ ให้เด็กเล็ก "หยุดเรียน 3 วัน" เลี่ยงฝุ่น PM2.5

 เตือน! รับฝุ่นพิษนานทำลายเซลล์ผิวหนัง สร้างริ้วรอย-จุดด่างดำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง