เมื่อวานนี้ (24 ม.ค.2562) นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ปัจจัยจากการเลือกตั้งอาจช่วยให้บรรยากาศในตลาดทุนคึกคัก เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในต่างจังหวัดอาจกลับมาคึกคักจากการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมือง หลังซบเซามานานจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่วิธีเลือกตั้งที่คาดว่าจะได้รัฐบาล
ผสม มีผลให้นักลงทุนต่างชาติ กองทุนการเงิน และผู้จัดการกองทุนบริษัทจัดการหลักทรัพย์ขนาดใหญ่กังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพภาพการเมือง หรือนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง จึงอยู่ระหว่างศึกษาเงื่อนไขและเริ่มสอบถามมายังสาขา สำนักงานประจำประเทศไทย หากการเลือกตั้งทำให้เกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ จะกระทบเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 4 ซึ่งลดลงจากประมาณการจีดีพีปีนี้ที่มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 4 จึงต้องจับตาพัฒนาการทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 6 เดือนข้างหน้า
ทิม ลีฬหะพันธุ์
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การประกาศวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ชัดเจนของ กกต. ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี คาดว่าจากนี้ไปจะมีกิจกรรมทางการเมืองเพิ่ม และทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจากกิจกรรมหาเสียงประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท และจะส่งผลกระตุ้นจีดีพีของประเทศขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2-0.3 โดยเชื่อว่ามาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต ร้อยละ 5 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งใช้เงินประมาณ 7,000 ล้านบาท จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ และหากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 4-4.5 ภายใต้สมมติฐานไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ความเป็นไปได้ว่าโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2
ธนวรรธน์ พลวิชัย