คูณ ฉัตร์พลกรัง (หลวงพ่อคูณ) พระเกจิอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค.2466 ตรงกับแรม 10 คํ่า เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ และ นางขาว ฉัตร์พลกรัง ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นครอบครัวชาวนา มีน้องสาวร่วมบิดามารดาสองคน คือ นางคํามั่น วงษ์กาญจนรัตน์ และ นางทองหล่อ เพ็ญจันทร
โยมแม่เสียชีวิตตั้งแต่หลวงพ่ออายุได้ 11 ขวบ โยมพ่อได้นําไปฝากเป็นศิษย์วัดบ้านไร่เพื่อให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิธโร พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี พระอาจารย์ที่วัดทั้งสามท่านตั้งใจสอนอย่างจริงจัง ทั้งวิชาภาษาไทย ภาษาขอม ทั้งยังสอนวิชาคาถาอาคม เพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ให้ด้วย ทําให้หลวงพ่อตั้งใจเรียนจนได้มีความรู้มาตั้งแต่บัดนั้น
น้าชายและน้าสะใภ้มีอาชีพทํานา เป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงกายเป็นหลัก หลวงพ่อได้ช่วยน้าทั้งสองทํางานตามกําลังความสามารถโดยตลอด จนวันหนึ่งร่างกายปวดระบมไปทั้งตัวจนสุดที่จะทนได้ จึงทอดกายนอนพาดบนคันนาเป็นเวลานาน ได้ยินน้าสะใภ้พูดว่า “ถ้าไม่ไหวก็ไปบวชเสียไป” หลวงพ่อจึงตอบไปว่า
น้าคอยดูเด้อ หากฉันได้บวชแล่ว ขอรับรองว่าฉันจะไม่ยอมซึกเป็นอันขาด จะบวชจนตายเลยแหละ
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ ที่ 5 พ.ค.2487 (บางตําราระบุว่า 2486) เดือน 6 ปีวอก พระครูวิจารยติกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌายา พระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌาย์ (พระครูวิจารยติกิจ) ให้ฉายาว่า ปริสุทฺโธ หลวงพ่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยจากหลวงพ่อคง พุทธฺสโร และเป็นศิษย์หลวงพ่อแดงที่มีชื่อเสียง ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งหลวงพ่อได้ตั้งใจฝึกปฏิบัติเป็นอย่างดีและสมํ่าเสมอ
หลวงพ่อคูณได้เดินธุดงค์จากเขต จ.นครราชสีมา และไกลออกไปเรื่อย ๆ จนถึงป่าลึกในประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อทําความเพียรให้หลุดพ้นจากกิเกสตัณหาและอุปาทานทั้งปวง ก่อนจะกลับวัดบ้านไร่ ในปี พ.ศ.2495 และได้เริ่มบูรณะพัฒนาวัด
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
แต่เดิมหลวงพ่อตั้งใจจะบวชเพียง 3 พรรษา แต่ภาพความยากลำบากในอดีตของตนเองและผู้คนในบ้านเกิด ทำให้ต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า “ทำอย่างไรจะช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ได้”
อันตัวกูก็ตํ่าต้อยน่อยค่าอย่างนี้ ถ้าซึกออกไปจะทำประโยชน์อะไรให้คนในแผ่นดิน ลำพังการเลี่ยงตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอด แต่การบวชเรียนถือศีลอยู่ หากมีความรู้ มีคุณธรรม อาจจะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาให่พ่นวิบากกรรมได้มากกว่า
สมณศักดิ์
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
- 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 : เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิทยาคมเถร
- 10 มิถุนายน พ.ศ.2539 : เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระ ราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทรมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- 12 สิงหาคม พ.ศ.2547 : เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระ เทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
เอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ
คำพูด “กู มึง”
หลวงพ่อให้เหตุผลของการพูดคำสรรพนามในการสนทนาด้วยคำพื้นบ้านนี้ว่า
กูแสดงให่รู่ว่า กูมีความจริงใจกั๊บพวกมึง แสดงความเป็นกันเองรักใคร่ ซานิ้ดสนม ไม่ต่องมีพิธีรีตอง พูดตรงไปตรงมา อย่างกู เรียกว่า ไอ้นาย ก็แปลว่า กูรัก กูเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่เกี่ยวกั๊บยศฐาบรรดาซั๊กอะไร
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
การนั่งยอง ๆ
หลวงพ่อให้คำตอบว่า “การนั่งยอง ๆ มันคล่องตัว สะดวกคล่องแคล่วรวดเร็ว การเคลื่อนตัวไม่ว่าจะลุก จะนั่ง เดิน ก็สะดวก และกูก็นั่งมาจนชิน รู่ซึ๊กมันสบายดี”
เนื่องจากในสมัยก่อน ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ มีแต่เสื่อหรือสาด แต่ถ้าไม่ได้ปูเสื่อนั่ง ก็จะนั่งยอง ๆ แทนหลวงพ่อคูณ ท่านยังมีเอกลักษณ์อีกหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถนำมาเขียนไว้ได้ทั้งหมด
เมตตาหลวงพ่อคูณ สร้างโรงเรียน มอบทุนการศึกษา
ด้านการศึกษา “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” ให้ความสำคัญด้านศึกษาค่อนข้างมากทั้งการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทั้งสายสามัญอย่างโรงเรียนหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ และในสายวิชาชีพ ด้วยการจัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5” เปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี ปวส. และ ปวช.
นอกจากนี้ยังมีกองทุนอีกมากมายที่ช่วยหลือด้านกรศึกษา ทั้ง “กองทุนการศึกษาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” ที่จัดตั้งในปี 2536 โดยมอบทุนการศึกษาให้กับ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่ขาดแคลนทุนการศึกษารวมถึงยังสนับสนุนด้านกีฬา ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการศึกษาและกีฬาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” ในปี 2538 เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และส่งเสริมการกีฬา
นอกจากฆราวาสยังให้การสนับสนุน การศึกษาของภิกษุ-สามเณร โดยจัดตั้งกองทุน “กองทุนวัดบ้านไร่ (เพื่อการศึกษาพระภิกษุ-สามเณร)” เพื่อเป็นกองทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุ-สามเณร อีกด้วย
บำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ "ครูใหญ่-พินัยกรรม"
วันที่ 6 มกราคม 2536 หลวงพ่อคูณในวัย 70 ปี พร้อมคณะลูกศิษย์ เดินทางจากวัดบ้านไร่ด้วย รถยนต์ไปจังหวัดขอนแก่น ด้วยจุดประสงค์ที่แน่วแน่จะบริจาคร่างกายเป็นครูใหญ่ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.กิตติศักดิ์ ศรีพานิชกุลชัย หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ในขณะนั้น พร้อมคณาจารย์ให้การต้อนรับ และนำหลวงพ่อเดินชมห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนจากร่างกายครูใหญ ่ ซึ่งหลวงพอ่ ไดตั้ดสินใจว่า “กูจะขอเป็นครูใหญ่แบบให้ผ่า” (ไม่เลือกแบบเป็นโครงกระดูก)
จากนั้นหลวงพ่อได้ให้เขียนพินัยกรรมครั้งแรก (รหัสหมายเลข 36/006) หลังจากลงลายมือชื่อในพินัยกรรม หลวงพ่อได้เปล่งวาจาว่า “สำเร็จแล้ว” ถึงสามครั้ง พินัยกรรมฉบับนี้ต่อมามีการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543 การตัดสินใจทำพินัยกรรมยกสรีรสังขารของท่านให้เป็นครูใหญ่ไม่ได้หมายความว่าหลวงพ่อจะไม่คิดถึงความรู้สึกของญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า “ลูกหลานเอ๊ย ให้เขาไปเถอะ เขาจะได้เอาไปใช้เป็นประโยชน์...อย่าได้พิรี้พิไรเหนี่ยวรั้งไว้เลย...”
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
วาจาที่ท่านเปล่งออกมานี้เป็นสิ่งที่ท่านได้ขออนุญาตต่อญาติพี่น้องลูกหลานวงศ์ตระกูลของท่าน แสดงถึงความเมตตาอย่างลึกซึ้งและเคารพต่อความรู้สึกของทุกคน ไม่ได้ตัดรอนต่อความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ของญาติพี่น้องและลูกหลานแต่อย่างใด
เมื่อกูตายแล้ว กูกลัวว่าศพของกูนี่แหละจะเป็นภาระยุ่งยากของลูกหลาน จะเกิดความสับสนวุ่นวายเพราะคนที่มาหากู ฝากตัวเป็นศิษย์มีมากมายหลายประเภท มีทั้งดีทั้งเลว ละโมบ โลภมากมาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ นานา โดยไม่กลัวบาปกรรม...กูจึงขอให้โรงพยาบาลมารับเอาศพไปภายใน 24 ชั่วโมง และหลังจากสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าแล้ว ก็ให้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น ๆ
อาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ
นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ หนึ่งในทีมแพทย์ที่ได้ดูแลหลวงพ่อ เล่าว่า โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีโอกาสได้ดูแลหลวงพ่อตั้งแต่ ปี พ.ศ.2536 โดยช่วงแรกรักษาแบบผู้ป่วยนอกเป็นครั้งคราว และปลายปี 2539 ท่านได้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และได้เข้ารับการรักษาจนอาการคงที่ และแพทย์ได้ส่งตัวหลวงพ่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ
ต่อมาในปี พ.ศ.2543 หลวงพ่อได้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกอีก ทางโรงพยาบาลมหาราชได้ส่งตัวท่านไปยังโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้งและได้ตรวจพบว่า มีหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น ทางศิริราชได้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ จนอาการดีขึ้น
ปี พ.ศ.2547 หลวงพ่อมีอาการซึม และแขนขาซ้ายอ่อนแรงเฉียบพลัน จากภาวะหลอดเลือดในสมองแตกและได้รับการผ่าตัดสมองฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชนานถึง 3 เดือน หลังจากกลับวัดบ้านไร่ก็ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จากเหตุการณ์ครั้งนี้หลวงพ่อมีภาวะอ่อนแรงหลงเหลืออยู่ทำให้ท่านจำเป็นต้องใช้เก้าอี้รถเข็นในบางครั้ง
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 หลวงพ่อเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชด้วยภาวะติดเชื้อรุนแรงในปอด ต้องระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน ในครั้งนี้ ท่านนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนานถึง 9 เดือน และเพื่อให้ท่านได้รับโภชนาการที่เพียงพอจึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อใส่สายยางผ่านผนังหน้าท้องไปยังกระเพาะอาหารโดยทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชและกลับมาพักรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชอีกครั้งจนถึงวันที่ 30 มกราคม 2555 ทีมคณะแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชจึงเห็นควรให้ท่านกลับไปพักรักษาตัวต่อที่วัดบ้านไร่ เพื่อให้ท่านได้รับการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจได้เร็วขึ้น
ในขณะนั้นและลูกศิษย์หลวงพ่อที่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำคัญและจำเป็นในการดูแลรักษาท่านที่วัดบ้านไร่ นับเป็นความร่วมมือกันอย่างบูรณาการและสมบูรณ์แบบที่สุด
หลังจากที่หลวงพ่อคูณได้กลับวัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ทีมแพทย์ก็ให้การดูแลท่านอย่างต่อเนื่องที่วัดบ้านไร่ จนวาระสุดท้ายของท่านเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ในเช้ามืดวันนั้นท่านเกิดภาวะลมรั่วในปอดอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ปอดและหัวใจหยุดทำงานทีมแพทย์ได้ปฏิบัติการกู้ชีพและนำท่านเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในเช้านั้นหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เวลา 11.45 น. สิริอายุ 91 ปี
ภาพ : หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิธีพระราชทานเพลิงศพ-ลอยอังคาร "หลวงพ่อคูณ" 29-30 ม.ค.นี้
9 คำสอน 10 คำคมของ "หลวงพ่อคูณ"
แรงศรัทธา "หลวงพ่อคูณ" ยอดบริจาคร่างเป็นครูใหญ่เพิ่ม 3 เท่า
มรดกธรรมชิ้นสุดท้าย จารึกหลวงพ่อคูณ ชนะกิเลสผ่านพิธี “ฆ่านกหัสดีลิงค์”