วันนี้ (30 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนี้ไปที่ตั้งฌาปนสถานชั่วคราวและเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ จะถูกจัดเตรียมเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อคูณ โดยจะเป็นอาคารประยุกต์วัฒนธรรมอีสานที่เรียบง่าย สะท้อนความสมถะ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ขณะที่วันนี้เจ้าหน้าที่เริ่มนำโดมซึ่งเป็นโครงเหล็กสีขาวขนาดใหญ่มาครอบบริเวณฌาปนสถานชั่วคราว ซึ่งเป็นจุดที่เผาเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ และตั้งเตาเผาสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ หลังถอดกล่องสแตนเลสบรรจุเถ้าอัฐิ เพื่อไปประกอบพิธีลอยอังคารที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย โดยการติดตั้งโดมเหล็กทำอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าไปนำชิ้นส่วนที่หลงเหลือจากการเผาไปแสวงหาผลประโยชน์
ส่วนรูปปั้นนาคและสัตว์ป่าหิมพานต์ 32 ตัว รวมทั้งส่วนประกอบจำลองเขาพระสุเมรุ เบื้องต้น ยังไม่มีการเคลื่อนย้าย จนกว่าทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับการอนุญาตจากทางจังหวัด เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างบริเวณนี้เป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงคุณูปการและเป็นที่แสดงชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ รวมทั้งจัดเก็บสิ่งของ ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวท่าน การเป็นครูใหญ่ และพิธีพระราชทานเพลิงศพ
ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการให้ประชาชนเข้าชมจนกว่าจะปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย ก่อนหน้านี้มีการก่อสร้างส่วนฐานรากใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีก 50 ล้านบาท
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ระบุว่า ฝั่งตรงข้ามอนุสรณ์สถานหลวงพ่อคูณ จะมีการสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 2 ต่อไปหากทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ในส่วนนั้นจะมีโรงพยาบาล การเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ มีการเรียนการสอนของนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และมีหลวงพ่อคูณ ซึ่งจะเชื่อมโยงกันตามวัตถุประสงค์ของหลวงพ่อคูณบริจาคร่างเพื่อการศึกษา ก็จะมีโรงพยาบาลเพื่อการศึกษาอยู่ใกล้ๆ
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า อนุสรณ์สถานพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้มีลักษณะพิเศษ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กความสูง 32 เมตร บนฐาน 8 เหลี่ยมเป็นรูปแบบอาคารประยุกต์จากรูปแบบของพระธาตุในกลุ่มวัฒนธรรมไต-ลาว ที่เรียกกันว่า "ทรงบัวเหลี่ยม"
จําลองจากลักษณะของเขาพระสุเมรุ แต่ลดทอนการตกแต่งประดับประดา ใช้สีขาวเป็นสีหลักของอาคาร เพื่อให้เกิดความเรียบง่าย สะท้อนความสมถะ และสันโดษ ผนวกเข้ากับการใช้แสงธรรมชาติเพื่อสื่อถึงนิพพานและการหลุดพ้น เน้นออกแบบด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้หลักการออกแบบเพื่อคนทุกคนหรือ Universal Design คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี ก็แล้วเสร็จ
นำอัฐิหลวงพ่อคูณ ลงเรือลอยอังคารแม่น้ำโขง
พิธีสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสรีรสังขารตามพินัยกรรมหลวงพ่อคูณ เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูณ์แล้ว หลังเถ้าอัฐิถูกนำไปโปรยบริเวณพระธาตุกลางน้ำ ในแม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย
นอกจากความเชื่อที่ว่าสายน้ำโขงจะนำผู้วายชนม์ไปถึงสวรรค์แล้ว พระธาตุกลางน้ำยังเป็นอีกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ หลายคนตักน้ำหลังจากลอยอัฐิหลวงพ่อคูณกลับไปบูชา
อัฐิและอังคารของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ถูกเทออกจากกล่องสแตนเลสลงสู่แม่น้ำโขงทันทีที่วนรอบพระธาตุกลางน้ำหรือพระธาตุหล้าหนอง ในเขตอำเภอเมืองหนองคาย ครบ 3 รอบ หลังเทออกจากกล่องแสตนเลท ขณะที่นำอัฐลงน้ำ เจ้าหน้าได้ฉีดน้ำตามเพื่อให้เถ้าอัฐิไหลลงไปในแม่น้ำโขงทั้งหมด
การฉีดน้ำถือเป็นแสดงความบริสุทธิ์ใจของคณะผู้จัดงานว่าได้ปฏิบัติตามเจตนารมย์ของหลวงพ่อคูณ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย
ทันทีที่พิธีลอยอังคารและอัฐิเสร็จสิ้น หลายคนลงไปตักน้ำ เพื่อนำกลับไปบูชา บางคนลงไปแช่น้ำ โดยเชื่อว่าจะเป็นมงคลกับชีวิต เพราะว่าหลวงพ่อคูณถือเป็นพระเกจิ ที่บำเพ็ญทานบารมีและเป็นที่เคารพศรัทธา
ข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียน คือ เครื่องบูชาที่ชาวบ้านที่นี่นำมาถวายและแจกจ่ายให้กับญาติธรรมที่มาร่วมงาน ตามความเชื่อเพื่อขอขมาและบูชาพระอริยสงฆ์แห่งวัดบ้านไร่ เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด ในวาระสุดท้าย และยังเป็นการขอขมาพระแม่คงคา พยานาคที่ปกปักรักษาดูแลแม่น้ำโขง ตามความเชื่อ
การนำอัฐิและอังคารของผู้ล่วงลับมาลอยอังคารที่บริเวณพระธาตุหล้าหนองและพระธาตุกลางน้ำ เป็นความเชื่อของชาวบ้าน เนื่องจากที่ตั้งพระธาตุเคยเป็นวัด แต่ถูกน้ำกัดเซาะจนตลิ่งพังและจำอยู่ใต้แม่น้ำโขงเหลือเพียงพระธาตุที่โผ่พ้นน้ำให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา
สำหรับกล่องสแตนเลทบรรจุอัฐิและอังคารของหลวงพ่อคูณ คณแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะนำไปเก็บไว้ที่ชั้น 7 อาคารเรียนรวมคณะแพทยศาสตร์ เพื่อเตรียมนำไปไว้ที่อนุสรสถานหลวงพ่อคูณ บริเวณพุทธมณฑลอีสานหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ