วันนี้ (31 ม.ค.2562) นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นคุลมเมืองว่า ในวันนี้กรุงเทพมหานครมีการใช้โดรน จำนวน 50 ตัว บินพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ค่าฝุ่นลดลงได้ คือ ขนาดของละอองน้ำที่ต้องเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เพื่อจะสามารถจับฝุ่น PM 2.5 ได้
ภาพ : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยวิธีการพ่นละอองน้ำนั้น ประเทศจีนหรือยุโรปก็มีการทำเช่นกัน แต่ไม่ใช่การสเปร์หรือฉีดน้ำเป็นฝอยลงมาจากตึกสูงเหมือนฝนตกเบาๆ ซึ่งจะไม่ช่วยในการจับฝุ่นขนาดเล็กที่แขวนลอยในอากาศ แต่วิธีการที่ถูกต้อง คือ ต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาของตึกสูงไม่เกิน 100 เมตร เรียกว่า Skyscraper sprinkler system โดยจะพ่นละอองฝอยของน้ำขนาด 0.1-3 ไมครอน ในรัศมี 50 เมตร เพื่อดักจับฝุ่นดังกล่าวลงสู่พื้น
ภาพ : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
ขณะที่พ่นละอองน้ำฝอยบนตึกสูงนั้น ต้องมีการพ่นพร้อมกันหลายตึก และทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที และเว้นระยะ 30 นาที - 1 ชั่วโมงจึงพ่นต่อ โดยในบางประเทศที่มีตึกอยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาดก็สามารถดูดน้ำมาใช้ได้ แต่ในประเทศไทยอาจต้องตรวจสอบก่อนว่าเหมาะสมจะนำมาใช้ได้หรือไม่ แต่การพ่นละอองน้ำฝอนในลักษณะนี้ต้องใช้น้ำในปริมาณน้อย และประหยัดพลังงาน
ภาพ : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
นอกจากนี้ยังต้องใช้รถที่ติดตั้งหัวฉีดแบบ Water cannon ซึ่งมีความแรงในการพ่นละอองน้ำและละอองน้ำมีขนาดเล็กพอที่จะสามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้ ไปประจำการณ์บนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น
หากพ่นละอองน้ำฝอยจากตึกสูงหลายแห่ง ร่วมกันกับการพ่นละอองน้ำจากรถที่ติดตั้งหัวฉีดแบบ Water cannon บนท้องถนนก็จะช่วยลดฝุ่นได้ถึง ร้อยละ 70 แต่วิธีการนี้เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา
ภาพ : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
แนะ ปชช.ช่วย X-ray หาแหล่งผลิตฝุ่นพิษ
ขณะที่นายสนธิ ยังแนะมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะสั้น
- รัฐบาลควรมีการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน
- ควรปิดถนนเส้นทางที่รถไฟฟ้าผ่านในวันเสาร์-อาทิตย์
- ประกาศหยุดโรงเรียนและการก่อสร้าง
- ใช้รถวันคู่-วันคี่ มีที่จอดรถให้ประชาชน
- ลดราคาค่าโดยสารสาธารณะ
- มีระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ให้ประชาชนป้องกันตนเองได้
- ประสานภาคประชาชน X-ray ตรวจสอบแหล่งฝุ่นพิษ แจ้งหน่วยงานและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
มาตรการระยะยาว
- ลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เหลือ 35 มคก.ต่อ ลบ.ม. ให้ได้ภายใน 3-5 ปี
- ใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ทั้งหมด
- ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
- ต้องควบคุมการจดทะเบียนรถให้ยากขึ้น กำหนดชัดเจนต้องมีที่จอดรถจึงจะจดทะเบียนได้
- รถเมล์ รถตู้ ต้องใช้ NGV ทั้งหมด
- ควบคุมค่ามาตรฐานท่อไอเสียและปล่องโรงงานอย่างเข้มงวด
- ปรับภาษีรถยนต์ใหม่ให้ถูกลง รถยนต์เก่าให้แพงขึ้น
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว จากปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียว 3 ตร.ม.ต่อคน ให้เป็น 12-24 ตร.ม. ต่อคน เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "ประเทศจีนเขาใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะลดได้ แต่เขาทำทุกอย่าง แก้ปัญหาตามนโยบายอย่างจริงจัง จากค่าฝุ่นในช่วงหน้าหนาวอยู่ที่ประมาณ 300 มคก. ต่อ ลบ.ม. ตอนนี้เหลือประมาณ 80 มคก. ต่อ ลบ.ม. แล้ว"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่น PM 2.5 : ชงบอร์ดสิ่งแวดล้อมปรับเกณฑ์ฝุ่นรายปี PM 2.5 เหลือ 10 มคก./ลบ.ม.
ฝุ่น PM 2.5 : 7 วิธีป้องกันตนเองช่วงวิกฤตฝุ่นพิษ
ฝุ่น PM 2.5 : ริมถนนพระราม 2 ค่าฝุ่นพุ่งสูง ยังไม่ประกาศเขตควบคุม
ฝุ่น PM 2.5 : นักวิชาการแนะ "ดูดฝุ่นลงแม่น้ำ" ย้ำปลอดภัย 100%