ปรากฎการณ์ "โคลนพุ" กลางทุ่งนาในจังหวัดนครราชสีมา ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า แรงดันน้ำใต้ดินสูง จากนี้จะศึกษาสภาพพื้นที่อีกครั้ง อาจจะถึงขั้นพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ต้องปิดกั้นไว้ก่อน เพราะมีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย
ภาพของปรากฎการณ์ "โคลนพุ" ที่เป็นลักษณะของโคลนไหลออกมาจากรู หรือรอยแยกบนผิวดิน กว่า 20 จุดกลางทุ่งนาบ้านหนองกุงน้อย ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา สร้างความแปลกใจให้กับชาวบ้านที่พบเห็น
มีเด็กเล็กลงมาเดินเล่นเหยียบย่ำโคลน แม้เจ้าหน้าที่จะนำเชือกมาปิดกั้น เพื่อแจ้งเตือนอันตราย เจ้าของที่ดินระบุว่า โคลนพุ เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 บริเวณที่โคลนไหลขึ้นมามีลักษณะเป็นเนินดินนูนสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร
ขณะที่ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี เผยแพร่ข้อมูล หลังการตรวจสอบ โคลนพุ ว่า มีสาเหตุคือ 1.บริเวณนี้มีแรงดันของน้ำใต้ดินสูง 2.มีรอยแตกและรอยแยกที่ยอมให้น้ำไหลขึ้นสู่ผิวดิน และ 3.สภาพธรณีวิทยาด้านล่างมีกลุ่มดินหรือแร่ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดการพองตัวมีสภาพนิ่มและเหลว ไหลขึ้นมาพร้อมกับน้ำ
ส่วนผลกระทบของโคลนพุ ทำให้ดินมีความเป็นด่างสูง ไม่สามารถเพราะปลูกพืชได้ และอาจเกิดเหตุคน หรือสัตว์เลี้ยงตกลงไปในหลุมโคลนได้รับอันตราย
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะมีการศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุของการเกิดโดยละเอียด เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การปรับปรุงสภาพดิน หรือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว